ประวัติ ของ อำเภอท่าปลา

ชื่อเดิมเรียกว่า "ทับป่า" ขึ้นอยู่กับเมืองน่านในสมัยที่เมืองน่านยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครองนครน่านเมื่อประมาณร้อยปีเศษ โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลาเข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์

ตามตำนาน เคยมีสถานที่ริมแม่น้ำน่าน มีหินใสสีขาวเหมือนตาปลาอยู่ในน้ำลึก เชื่อว่าหินนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ในวันสงกรานต์จะทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงจะนำหินไปสกัดและ เรียกบริเวณนี้ว่า "บ่อแก้วตาปลา" ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "แก้วท่าปลา" และหมู่บ้านนี้เรียกต่อมาว่า "บ้านท่าปลา" ซึ่งเป็นคำเมืองหมายถึงรอปลาขึ้นและจับปลานั่นเอง

อำเภอท่าปลาเป็นอำเภอที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้อำเภอใด ๆ มีแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมื่อโอนมาเป็นเขตการปกครองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ประชาชนมีความ เป็นอยู่ที่สุขสบายอยากจะกินปลาก็หาปลาได้ที่แม่น้ำ ซึ่งมีปลามากมายหลายพันธุ์ อยากกินอาหารป่าก็เข้าป่าล่าสัตว์ซึ่งมีอย่างชุกชุมในป่า เป็นแหล่งที่มีไม้ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย เช่น ไม้สักซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก จะเห็นได้ว่าในอดีต ประชาชนบางหมู่บ้านบางตำบลประกอบอาชีพทำไม้

และเมื่อปี พ.ศ. 2513 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทานได้เปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านและก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ พื้นที่อำเภอบางส่วนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ราษฎรต้องอพยพออกมาตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่บนพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน กรมประชาสงเคราะห์ ที่ว่าการอำเภอท่าปลาซึ่งเดิมตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 3 ตำบลท่าปลา ถูกผลกระทบจากการก่อสร้างตามโครงการฯ จึงได้ปรับย้ายมาตั้งที่ทำการแห่งใหม่อยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านอยู่จนทุกวันนี้

ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองระหว่างอำเภอท่าปลากับอำเภอน้ำปาด โดยโอนตำบลท่าแฝกไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาด[1] เนื่องจากราษฎรตำบลท่าแฝก (ซึ่งถูกอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ตัดขาดจากพื้นที่อื่นของอำเภอ) ได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการและขอรับบริการต่าง ๆ ที่ตัวอำเภอท่าปลาซึ่งอยู่ห่างออกไป 116 กิโลเมตร ถ้าย้ายไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาดซึ่งตัวอำเภอตั้งอยู่ระหว่างทางและมีระยะทางห่างเพียง 59 กิโลเมตร ราษฎรจะได้รับความสะดวกมากกว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน

  • วันที่ 4 มิถุนายน 2465 โอนพื้นที่อำเภอท่าปลา จังหวัดน่าน ไปขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์[2]
  • วันที่ 30 กันยายน 2490 ตั้งตำบลจริม แยกออกจากตำบลท่าปลา[3]
  • วันที่ 26 มกราคม 2500 จัดตั้งสุขาภิบาลท่าปลา ในท้องที่บางส่วนของตำบลท่าปลา[4]
  • วันที่ 24 กันยายน 2511 ก่อสร้างเขื่อนผาซ่อม บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด (เขื่อนสิริกิติ์ในปัจจุบัน)[5]
  • วันที่ 10 พฤศจิกายน 2513 ยุบสุขาภิบาลท่าปลา เนื่องจากท้องถิ่นภายในเขตสุขาภิบาลดังกล่าวเป็นเขตน้ำท่วมถึง และทางราชการได้อพยพราษฎรในเขตสุขาภิบาลออกไปอยู่ในเขตท้องที่ตำบลอื่น ท้องถิ่นแห่งนี้จึงหมดสภาพอันสมควรที่จะให้มีฐานะเป็นสุขาภิบาล[6]
  • วันที่ 13 ธันวาคม 2515 จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา[7]
  • วันที่ 20 พฤศจิกายน 2516 จัดตั้งสุขาภิบาลท่าปลา ในท้องที่บางส่วนของตำบลน้ำหมัน[8]
  • วันที่ 21 ธันวาคม 2516 โอนพื้นที่หมู่ 8,9,11 (ในขณะนั้น) ของตำบลหาดล้า และพื้นที่หมู่ 10 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าแฝก ไปตั้งเป็นหมู่ที่ 33,34,35,36 ของตำบลน้ำหมัน[9] โอนพื้นที่หมู่ 1,2 (ในขณะนั้น) ของตำบลจริม ไปตั้งเป็นหมู่ 5,6 ของตำบลท่าแฝก[10] โอนพื้นที่หมู่ 7,8,9 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าปลา ไปตั้งเป็นหมู่ 10,11,12 ของตำบลผาเลือด[11] ทำให้ท้องที่ตำบลหาดล้า ตำบลจริม และตำบลท่าปลา ไม่มีหมู่บ้านเหลืออยู่ จึงหมดความจำเป็นที่จะให้ตั้งเป็นตำบล กระทรวงมหาดไทยจึงให้ยุบตำบลหาดล้า ตำบลจริม และตำบลท่าปลา[12]
  • วันที่ 21 ธันวาคม 2516 ตั้งตำบลท่าปลา ตำบลจริม และตำบลหาดล้า แยกออกจากตำบลน้ำหมัน พร้อมโอนสุขาภิบาลท่าปลา ไปขึ้นกับตำบลท่าปลา อีกด้วย[13]
  • วันที่ 1 สิงหาคม 2521 ตั้งตำบลนางพญา แยกออกจากตำบลท่าปลา[14]
  • วันที่ 8 กันยายน 2523 โอนพื้นที่ตำบลร่วมจิต อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ไปขึ้นกับอำเภอท่าปลา[15]
  • วันที่ 20 ธันวาคม 2526 จัดตั้งสุขาภิบาลร่วมจิต ในท้องที่บางส่วนของตำบลร่วมจิต[16]
  • วันที่ 14 ตุลาคม 2528 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 350 วันที่ 13 ธันวาคม 2515 และจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา อีกครั้ง[17]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าปลา และสุขาภิบาลร่วมจิต เป็นเทศบาลตำบลท่าปลา และเทศบาลตำบลร่วมจิต ตามลำดับ
  • วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 โอนพื้นที่ตำบลท่าแฝก อำเภอท่าปลา ไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาด[18]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอท่าปลา //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2465/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2511/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2513/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/D/...