แหล่งท่องเที่ยว ของ อำเภอท่าหลวง

น้ำตกวังก้านเหลือง

เป็นน้ำตกแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรีที่มีความแตกต่างจากน้ำตกทั่วไปอย่างมาก เพราะน้ำตกโดยทั่วไปต้นน้ำจะอยู่บนภูเขาสูง แต่ของที่นี่กลับมีตาน้ำขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากบริเวณน้ำตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยธารน้ำตกจะไหลคดเคี้ยวลัดเลาะมาตามทางที่ลาด เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วก็จะมารวมตัวกันที่อ่างน้ำนามว่า 'วังหว้าง' ซึ่งมีสันหินปูนขวางกั้นอยู่

จากนั้นสายน้ำที่เอ่อมาจากต้นน้ำก็จะไหลลงไปปะทะกับหินผา ทำให้เกิดเป็นน้ำตกกว้างกว่า 20 เมตร ลดหลั่นกันไปเป็นชั้นๆ นับได้ไม่ต่ำกว่า 10 ชั้น เกิดเป็นภาพสวยงามตระการตา โดยน้ำจะไหลเป็นทางยาวกว่า 3 กิโลเมตรแล้วไปบรรจบกันที่แม่น้ำป่าสัก นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ก็มีความร่มรื่นจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นปกคลุม และยังพบหินงอก หินย้อย เกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งหินบริเวณน้ำตกจะมีลักษณะพิเศษคือไม่ลื่น สามารถเดินผ่านไปมาได้สะดวก และอีกความน่าสนใจของน้ำตกแห่งนี้คือมีน้ำไหลแรงตลอดทั้งปี[3]

นอกจากนี้ภายในน้ำตกยังมีสะพานแขวนทอดยาวผ่านน้ำตก เป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในจังหวัดลพบุรี ด้วยความยาวถึง 66 เมตร สำหรับใช้เป็นทางเดินข้ามน้ำตกระหว่างฝั่งอำเภอชัยบาดาลกับอำเภอท่าหลวง สะพานแขวนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ถ่ายภาพที่สวยงามและเป็นที่นิยมในการแวะเที่ยวของน้ำตกวังก้านเหลือง และภายในน้ำตกยังมีร้านค้า ร้านอาหารต่างๆอีกมากมายที่พร้อมให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ด้วย[4]

เมืองโบราณซับจำปา

เมืองโบราณซับจำปา เป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของป่าจำปีสิรินธร จากร่องรอยคูน้ำคันดินและหลักฐานโบราณวัตถุที่พบทั่วไป ในแถบอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งของยุคทวารวดี และสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองโบราณ คือ ป่าจำปีสิรินธร  จำปีสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น[5]

  ลักษณะรูปร่างเมืองโบราณซับจำปา เป็นมีคูน้ำกว้างลึก และมีคันดินกำแพงสูงล้อมรอบเมือง ผังเมืองเป็นรูป "วงกลมรีคล้ายรูปหัวใจ" เมืองชนิดไม่มีรูปแบบหรือเป็นรูปอิสระ วัดขนาดความกว้างจากทิศเหนือไปทิศใต้ 834 เมตร จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกประมาณ 704 เมตร เมืองนี้มีกำแพงดินสูง 2 ชั้น มีคูเมืองลึก ตรงกลางกำแพงเป็นดินอัดแน่นสูงประมาณ 10 เมตร จากพื้นคูเมือง คูเมืองกว้างประมาณ 16 เมตร ภายในเมืองมีเนินดิน 3 เนินมีเศษอิฐซึ่งเข้าใจว่าเป็นซากโบราณสถาน นอกเมืองมีสระน้ำ 1 สระ

สิ่งที่พบเป็นหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 3,000 ปี ได้แก่ กำไลหิน แกนกำไลทำด้วยหินมาร์ล เศษภาชนะดินเผา และของยุคสมัยทวารวดีได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูป ประติมากรรมรูปกวางหมอบ ชิ้นส่วนธรรมจักร ตุ๊กตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับที่เป็นโลหะสัมฤทธิ์ จารึก 5 ชิ้น เส้นทางเข้าสู่เมืองซับจำปา ฯลฯ[6]

ป่าจำปีสิรินธร

ป่าจำปีสิรินธร อยู่ในความดูแลโดยกรมป่าไม้และจัดให้ ป่าจำปีสิรินธร แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ โดยสร้างทางเดินแบบ คอนกรีตยกพื้น ความยาวกว่า 1,200 เมตร ตลอดทางเดินจะพบกับต้น จำปีขนาดใหญ่ จะมีจุดต่างๆ ประมาณ 12 จุด ที่จะให้ความรู้ควบคู่กันไป

จำปีสิรินธร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Magnolia sirindhorniae Noot & Chalermglin) เป็นพรรณไม้จำปี ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลกพบได้ที่ป่าพุชุมชน ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการ 10 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ลักษณะเด่นของ จำปีสิรินธร คือเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (Endemic to Thailand) คือมีขึ้นอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และมีขึ้นอยู่เฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำหรือในป่าพุน้ำจืดที่มีน้ำพุไหลผ่านตลอดเวลา เท่านั้น แตกต่างจากจำปีทั่วไปที่ต้นไม่สูงและไม่ชอบน้ำ จัดเป็นพรรณไม้ที่มีความเก่าแก่ ดึกดำบรรพ์ที่สุด ในหมู่ของไม้ดอกที่มีอยู่ในยุคปัจจุบัน มีวิวัฒนาการในการปรับตัวต่ำที่สุด จึงเป็นพรรณไม้ที่มีโอกาสสูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติได้มากที่สุด

สมัยก่อนเนื่องจาก ต้นไม้ชนิดนี้มีลำต้นสูงคือ 20-30 เมตร ดังนั้นเวลาออกดอก ชาวบ้านมักไม่ค่อยได้เห็นดอกสดๆกัน จะเห็นก็แต่ดอกที่แก่และหลุดล่วงลงมาแล้ว ซึ่งดอกที่แก่จะมีสีเหลืองเหมือนดอกจำปา จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นต้นจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านซับจำปา ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำและต้นจำปาขึ้นอยู่[7]