ประเพณีและวัฒนธรรม ของ อำเภอนาหมื่น

พิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองนาหมื่น
๑๗ เมษายน / บ้านหลักหมื่น ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น
ในอดีตได้มีผู้คนนำเอาเสาหลักแดนเมืองมาปักฝังไว้ เมื่อวันเดือนปีใดไม่ทราบ เป็นหลักที่หนึ่งหมื่นที่หมู่บ้านนี้พอดี แต่ไม่รู้ว่าเป็นการวัดโดยลักษณะใดและวัดมาจากไหน ลักษณะของเสาหลักหมื่นดังกล่าวนั้น เป็นเสาไม้เนื้อแข็งสี่เหลี่ยมขนาด ๑๐ ´ ๑๐ นิ้ว ยาว ๓ เมตร รอบฐานมีเสาไม้ขนาด ๕ ´ ๕ นิ้ว ยาวเมตรครึ่งฝังรอบ อีกสี่ด้าน บริเวณเสากลางมีปรากฏร่องรอยการจารึกอักษรขอมเมืองไว้ด้วย แต่อยู่ในสภาพเลือนลาง อ่านจับใจความไม่ได้ อีกทั้งยังมีร่องรอยการถูกฟักฟันด้วยของมีคมเต็มไปหมด ด้วยเหตุที่หมู่บ้านนี้มีเสาหลักหมื่นตั้งอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านหลักหมื่น สำหรับเสาแดนเมืองหลักหมื่นเวลาได้ผ่านเลยมาเป็นเวลานานเสาหลักได้ล้มลง ต่อมาบรรดาประชาชนชาวอำเภอนาหมื่น นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง หัวหน้ากิ่งอำเภอนาหมื่นในขณะนั้น ได้นำเอาเสาแดนเมืองเก่ามาฝังใว้ตรงที่ทำการกิ่งอำเภอนาหมื่นแล้วสร้างเป็นศาลหลักเมืองขึ้นมา เรียกว่าศาลหลักเมืองนาหมื่น ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวอำเอนาหมื่นมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีนมัสการพระธาตุเมืองลีศรีน้ำอูน
กุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม (๑๕ ค่ำ เดือน ๓) / บ้านน้ำอูน ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น
พระธาตุน้ำอูน ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างด้วยการบริจาคจากศรัทธาของ วัดน้ำอูนและผู้มีจิตศรัทธา เหตุผลที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันก่อสร้างก็เพื่อให้คณะศรัทธาวัดน้ำอูนได้สักการะบูชา เนื่องจากในพระธาตุได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คณะศรัทธามีความเห็นร่วมกันว่าจะร่วมกันทำบุญสักการะพระธาตุในวันมาฆบูชา และมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกและได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกันถึง ๔ ประการ คือ ๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวกมาฆฤกษ์ ๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา และเพราะเกิดเหตุ ๔ ประการข้างต้นทำให้วันมาฆบูชาเรียกอีกอย่างว่า วันจาตุรงคสันนิบาต[6]
เลี้ยงอาญาปัว-อาญาหลวง
กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม (เดือน ๔ และ เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ และ แรม ๑๒ ค่ำ) / ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น
เลี้ยงอาญาปัว ในสมัยอดีตกาลการก่อตั้งตำบลเมืองลีเริ่มแรกโดยปกติชุมชนเริ่มแรกเป็นชนเผ่าลัวะขมุที่เดินทางมาจากทางสายเหนือคือ อำเภอปัว เข้ามาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเล็กๆ แต่สิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นได้นำมาคือ ระบบการปกครองผู้นำชนเผ่า หรือหัวหน้าหมู่บ้าน สิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ในชุมชนคือ ต้องมีสิ่งที่ นำความเชื่อถือ ศักดิ์สิทธิ์ เคารพบูชา เป็นหลักในการดำรงชีวิต ในปัจจุบันการสักการบูชาอาชญาปัวมีการกำหนดการในการ บนบานศาลกล่าวไว้ ๒ ครั้ง คือ เดือน ๔ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ และ แรม ๑๒ ค่ำ หรือเรียกตามภาษาพื้นบ้าน (การแก้บนของคนใน) เดือน ๖ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ – แรม ๑๒ ค่ำ ถือเป็นรอบการแก้บนโดยปกติ การแก้บนโดยทั่วไปสามารถบนบานศาลกล่าวได้ ทั้งเงิน(ของแดง) หมู(ลักษณะสีดำเท่านั้น) และไก่ ก่อนที่อาชญาปัวจะมาเข้าทรงจะมีช่างซอ ช่างฟ้อน บรรเลงเพลงเพื่ออัญเชิญให้อาชญาปัวมาเข้าทรงที่ร่างทรง ร่างทรงของอาชญาปัวจะเป็นผู้หญิงและการทำพิธีสักการะจะทำในช่วงบ่ายของวันนั้น ๆ เมื่อเสร็จพิธีแก้บนแล้วจะมีการทำบายศรีสู่ขวัญให้กับร่างทรง โดยเชื่อกันว่าเป็นการเรียกขวัญของร่างทรงให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หลังจากที่ขวัญได้ออกจากร่างไปในช่วงที่อาชญาปัวมาเข้าทรง

เลี้ยงอาญาหลวง สมัยอดีตกาล อาชญาหลวงเริ่มมีบทบาทมากในการให้ ความเคารพเพราะอาชญาหลวงมีลักษณะการปกครอง ที่กว้างขวางทั้งในพื้นที่ของตำบลเมืองลีและตำบลปิงหลวง ลักษณะการปกครองมีทั้งการรวมตัวของบรรดาญาติพี่น้องจากชุมชนต่างๆ เหมือนการรวมญาติครั้งใหญ่ อาชญาหลวงจึงมีศาล (โฮงอาชญา) หลายแห่ง คือ ที่ตำบลเมืองลี ตั้งอยู่ที่บ้านนาหมอ หมู่ที่ ๓ ตำบลปิงหลวง ตั้งอยู่ที่ บ้านปิงหลวง หมู่ที่ ๒ ในอดีตจนถึงปัจจุบันการบนบานศาลกล่าวจะแก้บนโดยเป็นเงิน (ของแดง) หรือบางคนบนบานโดยใช้สัตว์ใหญ่ (ควาย)[7]

ไหว้สาผาช้าง
มิถุนายน หรือ พฤษภาคม (๑๕ ค่ำ เดือน ๖) / บ้านนาหมอ ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น
ตำบลเมืองลี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาและมีพิธีทางศาสนาสืบเนื่องกันมานานแล้วก็คือ ไหว้ผาช้าง จะมีการจัดงานขึ้นทุกๆปี เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบลเมืองลี และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมจารีตประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการจุดบั้งไฟบูชาเพื่อเป็นการสักการะผาช้าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะทำให้ ฝนตกตามฤดูกาล พืชผลไร่นาอุดมสมบูรณ์ ประเพณีไหว้สาผาช้างจะจัดขึ้นในวันวิสาขบูชาของทุกปี เนื่องจากวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือการดับขันธ์ของพระพุทธเจ้า[8]
ประเพณีสืบชะตาหลวงและสืบชะตาข้าว
๑๖ เมษายน / วัดนาทะนุง ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น

การสืบชะตาข้าว จะจัดขึ้นภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉาง เพื่อความเป็นสิริมงคลและในพืชผลเจริญงอกงาม และเพื่อประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าว และการเพาะปลูกข้า ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชน รวมถึงให้ประชาชนในตำบลได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมอันดีร่วมกัน พิธีนี้เป็นพิธีมงคลที่สำคัญประการหนึ่ง จึงต้องหาวันที่เป็นมงคลก่อน เชื่อว่าถ้าทำพิธีในวันที่ไม่เป็นมงคล ขวัญข้าวจะไม่มารับเครื่องสังเวย อนึ่งการสืบชะตาข้าวเป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม่หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย
การสืบชะตาหลวง หมายถึงการ สืบชะตาบ้าน และสืบชะตาคนพร้อมกัน โดยทางคณะศรัทธาวัดนาทะนุง จะร่วมกันจัดเตรียมเครื่องใช้ในการประกอบพิธี การประกอบพิธีกรรมสืบชะตาจะเป็นพิธีทางสงฆ์ จะมีการสวดเจริญพุทธมนต์ก่อน และตามด้วยบทสวดสืบชะตา โดยจะทำพร้อมกับการสืบชะตาข้าว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนสี่เป็ง โดยเริ่มพิธีนับแต่วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนสี่เหนือ (เดือน ๒ ของทางภาคกลาง) โดยจะเสร็จสิ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสี่เหนือ หรือในท้องถิ่นเรียกสี่เป็ง(วันเพ็ญเดือน ๒ ของทางภาคกลาง) การทำพิธีสืบชะตาเป็นการสืบทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษ โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้มีการถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ โดยยึดเอาวันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทุกคนว่างจากการทำงาน มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เป็นสิริมงคลให้กับตัวเองในรอบหนึ่งปี [9]