สถานที่สำคัญ ของ อำเภอน้ำเกลี้ยง

สถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทา

ตั้งอยู่ที่พื้นที่หมู่ 5 บ้านหนองพะแนง ตำบลรุ่งระวี อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสนละเอาะ สังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) สำนักการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับหน่วยป้องกันรักษาที่ ศก.5 (ห้วยขะยุง - หนองม่วง) เป็นป่าสนสองใบบริเวณที่ราบผืนสุดท้ายของจังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่รับผิดชอบ 800 ไร่ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ยกพื้นที่ป่าสน ในท้องที่ตำบลตำแย ตำบลละเอาะ ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ และตำบลตูม ตำบลศรีแก้ว อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นป่าคุ้มครอง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม[10] ปีเดียวกัน

ต่อมาได้มีประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 423 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ได้ยกพื้นที่ป่าสน ในท้องที่ ตำบลละเอาะ ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ ตำบลตำแย อำเภอเมืองศรีสะเกษ และตำบลตูม ตำบลศรีแก้ว อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2512 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม[11] ปีเดียวกัน เนื่องจากป่าแห่งนี้มีไม้ยาง ไม้กระบาก ไม้พะยอม ไม้ประดู่ ไม้พะยุง ไม้ตะเคียน ไม้สน และไม้ชนิดอื่นซึ่งมีค่าจำนวนมาก และมีของป่ากับทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย สมควรกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อรักษาสภาพป่า ไม้ ของป่า และทรัพยากรธรรมชาติอื่นไว้

การเดินทางไปสถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทานี้ สามารถเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ ไปตามทางหลวงหมายเลข 221 จังหวัดศรีสะเกษ ไปอำเภอกันทรลักษ์ ตรงกิโลเมตรที่ 28 - 29 ก็จะถึงสถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทา ถนนหลวงจะผ่านพื้นที่สถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทา ที่ทำการสถานีห่างจากถนนใหญ่เพียง 200 เมตรเท่านั้น ปัจจุบันมีเส้นทางเดินชมพื้นที่ป่าสนสองใบที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีข้อมูลของพันธุ์ไม้ต่างๆ ให้ศึกษา และมีสวนสาธารณะเจริญจิต ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สถานีวนวัฒนวิจัยห้วยทาด้วย

แหล่งโบราณคดีบ้านขี้เหล็ก หรือ "เมืองโบราณพังคู"

ตั้งอยู่ที่พื้นที่หมู่ 2 บ้านขี้เหล็ก ตำบลละเอาะ เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 270 เมตร ยาว 480 เมตร คูน้ำที่ล้อมรอบเรียกว่า "หนองคู" จากการสำรวจไม่พบโบราณวัตถุภายในเขตชุมชน แต่พบอยู่ด้านนอกทางด้านทิศใต้ของแหล่งฯ จำนวนไม่มากนัก ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เคลือบสีเขียว สำน้ำตาล ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยเขมร มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 มีเครื่องถ้วยจีนเคลือบขาว สมัยราชวงศ์ฮั่น มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 จากโบราณวัตถุที่พบ และแผนผังของชุมชน กล่าวได้ว่า ชุมชนแหล่งนี้เป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมร ช่วงเวลาการอยู่อาศัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18[12]

โรงพยาบาลน้ำเกลี้ยง เป็นสถานที่สำคัญในอำเภอน้ำเกลี้ยง มีขนาด 33 เตียง

สวนป่าดงบก และวัดป่าดงบก

ป่าดงบก มีพื้นที่ 1,065 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทา-ห้วยขยุง เป็นป่าดิบแล้งที่มีลักษณะเป็นป่าทึบ หนาแน่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด คงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ไม้ยาง พะยอม พยูง ตะเคียน แดง ตะแบก กระบก มะค่า นนทรี ลำดวน ขิงป่า ข่าป่า ขนุนป่า ฯลฯ ไม้มีค่าเหล่านี้ไม่เพียงให้ที่อยู่อาศัย แต่ยังสร้างแหล่งอาหารป่า เช่น เห็ด พืชสมุนไพร ฯลฯ

การบุกรุกผืนป่าเพื่อขยายที่ทำกินเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2515 เมื่อมีชาวบ้านจากถิ่นอื่นทยอยอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พื้นที่ป่าดงบกเริ่มเสียหาย จนกระทั่งปี 2519 มีนายทุนเข้ามาตัดไม้ขนาดใหญ่ในเขตป่า พร้อมแปรรูปออกไปขาย ขณะนั้นนายมา ทองสุ กำนันตำบลน้ำเกลี้ยง (ในขณะนั้น) พร้อมกันแกนนำชาวบ้านได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมการลักลอบตัดไม้ และส่งดำเนินคดี ไม่นานก็มีรายใหม่เข้ามาอีก กำนันมา กับแกนนำชาวบ้านก็สามารถจัดการ ส่งดำเนินคดีได้อีกเหมือนกัน

กำนันมา ทองสุ เห็นว่าถ้าต้องเข้าไปจับกุมอย่างนี้ คงเป็นงานที่ไม่รู้จบ จึงหาทางออกด้วยการไปนิมนต์พระผู้นำจากวัดต่างๆ โดยการนำของพระครูสุนทรธรรมโนวาท เจ้าอาวาสวัดบ้านเขิน มาประชุมกันที่วัดบ้านโนนหนองสิม โดยมีหลวงปู่อ่อนตา เจ้าอาวาสวัด เป็นประธานการประชุม มีมติให้จัดตั้งกฎระเบียบในการรักษาป่าขึ้น ประกาศไปทุกหมู่บ้านในเขตพื้นที่ใกล้เคียงให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ จัดทำอาณาเขตและยินยอมให้ชาวบ้านทำกินรอบผืนป่า พร้อมทั้งทำหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อขอการสนับสนุนอุปกรณ์ อาทิ รถแทรกเตอร์ รถเกรดดิน เพื่อทำถนนรอบป่าเป็นแนวกันชนป้องกันจากการบุกรุกแผ้วถาง และเป็นแนวกันไฟไปในตัว

ในปี 2524 ชาวบ้านหารือกันว่าควรจะตั้งวัด หลังจากนิมนต์พระมาจำพรรษาในป่าแห่งนี้แล้ว โดยอยากให้เป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง จึงเข้าไปขอคำแนะนำจากหลวงปู่ชา สุภัทโท เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลวงปู่ชาแนะนำให้ติดต่อพระครูสุรพงษ์ แห่งวัดภูดินแดง บ้านโนนสำโรง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับป่าดงบก ท่านพระครูสุรพงษ์ได้เข้ามาช่วยเหลือสร้างสำนักสงฆ์ในป่าดงบก ส่วนทางคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง ก็ส่งพระอาจารย์หัสสา หนุโก มาเป็นประธานสงฆ์ และตั้งชื่อสำนักสงฆ์แห่งใหม่นี้ว่า "วัดป่าดงบก" เป็นสาขาที่ 77 ของวัดหนองป่าพง

ปี 2531 กรมป่าไม้ มีหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ โดยให้เนื้อที่ 15 ไร่ จากนั้นจึงมีการสร้างกุฏิจำนวน 4 หลัง นิมนต์พระสงฆ์จากวัดหนองป่าพง ซึ่งก็ได้รับความเมตตาด้วยดีจากหลวงปู่ชา สุภัทโท ซึ่งครั้งนั้นมีพระครูสุนทร พัฒนานุโยค เป็นเจ้าอาวาส

วัดป่าดงบกมีบทบาทยับยั้งการบุกรุกทำลายป่า ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้ชาวบ้านมีจิตสำนึก เกิดความหวงแหนป่า กรณีการรุกป่ายุติลงในปี 2540 และส่งผลให้ สำนักงานป่าไม้อำเภอน้ำเกลี้ยง และสำนักงานป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ ออกหนังสือการจัดตั้งป่าชุมชนดงบก ซึ่งมีชุมชนบ้านเขิน บ้านโนนหนองสิม บ้านโนนสว่าง บ้านเกษตรสมบูรณ์ บ้านหนองอะโลม และบ้านไร่เอราวัณ ในตำบลเขิน ร่วมกันดูแลรักษาป่า จัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนหมู่บ้านละ 10 คน มีการตั้งกฎกติการ่วมกัน อาทิ ห้ามตัดไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากป่าดงบก ห้ามเก็บฟืนจากป่าไปขาย ให้ใช้ได้เฉพาะในครัวเรือนและสาธารณประโยชน์ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงในป่า ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่า เป็นต้น

สถานีตำรวจภูธรน้ำเกลี้ยง เป็นสถานีตำรวจที่มีมาก่อนการตั้งอำเภอน้ำเกลี้ยง เนื่องจากสมัยก่อนตำบลน้ำเกลี้ยงมีขนาดใหญ่

ปี 2541 องค์การบริหารส่วนตำบลเขิน ป่าไม้อำเภอน้ำเกลี้ยง และป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดโครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) มีชาวบ้านเข้ารับการอบรมจำนวน 49 คน ซึ่งจากผลให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการรักษาป่า และได้รับพระราชทาน "ธงพระราชทานพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต" จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ความสำเร็จนี้ก่อให้เกิดการขยายไปสู่กลุ่มเยาวชน มีโรงเรียนรอบผืนป่าดงบก 5 แห่ง ส่งนักเรียนเข้ามาค่ายอบรมเรื่องสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการปฏิบัติธรรม[13]

สถานีตำรวจภูธรน้ำเกลี้ยง

ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นท้องที่ที่มีราษฎรหนาแน่น สมควรจะได้จัดตั้งสถานีตำรวจขึ้น เพื่อตรวจตราดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น จึงให้ตั้งสถานีตำรวจภูธรขึ้นที่ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีชื่อเรียกว่า “สถานีตำรวจภูธรน้ำเกลี้ยง” มีเขตอำนาจการรับผิดชอบและพื้นที่การปกครองในเขตพื้นที่ตำบลน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และให้อยู่ในความปกครองของสถานีตำรวจภูธรอำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[14]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอน้ำเกลี้ยง //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2491/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2511/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2533/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/A/...