ลักษณะทั่วไป ของ อำเภอบ้านผือ

เป็นที่ราบสูงเชิง เขาภูพาน ประกอบด้วยทุ่งนา ป่าไม้ ภูเขา พื้นที่เหมาะแก่การทำนา ทำไร่ ลำน้ำที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่มีหลายสาย แต่เป็นสายเล็กๆ ที่สำคัญมีห้วยน้ำโมง หรือลำน้ำโมง ไหลแต่ภูเขาภูพานผ่านตำบลจำปาโมง ตำบลบ้านผือ ตำบลกลางใหญ่ ผ่านอำเภอท่าบ่อไปออกแม่น้ำโขง และมีลำน้ำสายเล็กอีกหลายสาย เช่น ลำน้ำฟ้า ลำน้ำงาว ลำน้ำซีด ลำน้ำสวย ห้วยคุก

พื้นที่ ของอำเภอบ้านผือมีเทือกเขาภูพานเป็นเทือกเขาหินทราย เกิดในยุคที่โลกถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (MESOZOIC - CRETACEOUS) เมื่อธารน้ำแข็งละลายและเคลื่อนตัวลงตามแรงดึงดูดของโลก เมื่อประมาณ 180 ล้านปีมาแล้ว เกิดการกัดกร่อนเทือกเขาภูพาน ส่วนนี้จึงเกิดเป็นเพิงหินรูปร่างแปลกๆ งดงาม เช่น ภูพระบาท หรือภูกูเวียนแต่เดิม ภูพระบาทเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง และห้วยนางอุสา ซึ่งไหลลงไปแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ ภูพระบาทมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 320 - 350 เมตร

ความอุดมสมบูรณ์ ของต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ และบริเวณที่ราบรอบๆ ภูเขา จึงเกิดมีชุมชนเข้าไปอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอยู่มากมายตามเพิงหินบนภูพาน ส่วนใหญ่ในอำเภอบ้านผือ ไม่ว่าจะเป็นภูพระบาท บ้านกลางใหญ่ พระพุทธบาทบัวบาน ภูสูง จนถึงอำเภอสุวรรณคูหา ต่อมาเมื่อมีศาสนาเข้ามานับแต่สมัยทวารวดี ไม่ว่ากระแสธารแห่งอารยธรรมจะมาจากสายแม่น้ำโขง หรือจากภายในก็ตาม อิทธิพลของวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาสู่บริเวณนี้ บริเวณเพิงผาหลายแห่งถูกใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของชุมชน การปักเสมาเป็นการกำหนดเขตการกระทำสังฆกรรม ตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่ปรากฏในความเชื่อของคนอีสานบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรล้านช้าง การจำหลักรูปพระพุทธรูปหินทรายที่เพิงผา ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนบริเวณนี้ และการติดต่อเกี่ยวพันกับชุมชนอื่นในภูมิภาคเดียวกัน นอกจากจะเป็นอารยธรรมฮินดูและพุทธแล้ว อารยธรรมขอมก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในแถบบ้านผือบนภูพระบาทเป็นอย่างมาก การสร้างประติมากรรมหินทรายนูนสูงที่ผนังถ้ำพระบนภูพระบาท การจำหลักหินทรายขนาดใหญ่เป็นรูปเทพเจ้า หรือเรื่องชาดก ภาพบุคคลที่พบที่พระพุทธบาทบัวบาน บ้านหนองกาลึม บ้านกาลึม ก็ตาม ล้วนแสดงถึงศิลปะสมัยลพบุรีเข้ามามีอิทธิพลในแถบนี้

เขตอำเภอบ้านผือ บริเวณเทือกเขาภูพานมีการปักใบเสมา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ไม่ปรากฏภาพจำหลัก เป็นการโกลนหินทรายปักล้อมรอบเพิงหินธรรมชาติ ไม่กำหนดรูปแบบแน่นอน บางหลักกลม บางหลักเหลี่ยม บางหลักแบน ขนาดความสูงไม่แน่นอน บางกลุ่มสูงมากกว่า 3 เมตร เช่น กลุ่มที่อยู่ที่กี่นางอุสา บางหลักเป็นแบบสี่เหลี่ยม ยอดมนกลมก็มี กำหนดรูปแบบตามพระพุทธรูปที่เพิงผาว่าเป็นสมัยทวารวดี

กลุ่มที่ 2 อยู่ที่ราบเชิงเขาภูพาน มีลักษณะเป็นแบบแผ่นหิน มีความสูงมาก ฐานเป็นบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นรูปจำหลักนูนต่ำ เป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับเหนืออาสน์อยู่ตรงกลาง ด้านข้าง 2 ด้าน จะมีอีก 2 องค์ นั่งเหนืออาสน์แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าองค์กลาง ลักษณะเป็นศิลปลพบุรีตอนต้น ลักษณะเทวรูป หรือพระโพธิสัตว์มีเค้าหน้าทวารวดีท้องถิ่น

ประชากร ประชากร ส่วน ใหญ่ของบ้านผือเป็นไทพวน อพยพจากแคว้นเชียงขวาง หรือทรานนินห์ มาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น พวนกลางใหญ่ถูกต้อนมาตั้งแต่ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ และไม่ยอมลงไปอยู่ภาคกลาง ขอตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางใหญ่มาจนทุกวันนี้ อีกพวกอพยพ หรือถูกกวาดต้อนมาครั้งศึกฮ่อ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2428 - 2436 พวนพวกนี้จะตั้งถิ่นฐานที่อำเภอบ้านผือ บ้านหายโศก บ้านลาน บ้านม่วง บ้านค้อ บ้านเมืองพาน บ้านติ้ว บ้านกาลึม พวนพวกนี้อพยพมาจากเมืองแมด เมืองกาสี สบแอด เชียงค้อ และอีกพวก คือ พวนที่อพยพหาที่ทำกินจากอำเภอทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาสีดา นอกจากนี่ยังมีพวกลาวเวียง (เวียงจันทน์) ที่อพยพเข้ามาอยู่รอบๆ กับพวน และไทอีสานอื่น ปัจจุบันมีพวกลาวจากอำเภอวังสะพุง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านใหม่ บ้านกาลึม บ้านหนองกาลึม เข้ามาปะปน เกิดการประสมประสานทางวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมที่มั่นคงอันได้แก่ วัฒนธรรมพวน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ พิธีกรรม และภาษา

บ้านผือมิได้เป็นแต่เพียงแหล่งที่ตั้งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ความสำคัญของบ้านผือนั้น ยังเคยเป็นชุมชนที่ล้านช้างเข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก เคยอยู่ในอำนาจล้านช้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นเส้นทางเดินทัพของล้านช้าง และเป็นเส้นทางการปฏิวัติรัฐประหารของล้านช้างมาก่อน วัฒนธรรมของล้านช้างจึงมีอยู่มากมายในบ้านผือ บ้านกาลึมเคยเป็นที่เกิดของสังฆราชที่ยิ่งใหญ่ของล้านช้าง คือญาคูโพนเสม็ด (ญาคูลืมบอง) ชาวบ้านกาลึมเป็นลูกศิษย์ของญาคูลืมบอง ได้ไปบวชเรียนในอาณาจักรล้านช้าง คือเวียงจันทน์ และได้ช่วยให้เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร เจ้าชายล้านช้าง ได้ขึ้นเสวยราชเป็นพระเจ้าล้านช้าง เป็นผู้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ศาสนสถานมากมายในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่เวียงจันทน์ขึ้นไปจนถึงนครจำปาศักดิ์ และเลยเข้าไปในแดนเขมร

ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อทรงหลบราชภัยจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ที่ยกทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ หลวงพระบางได้ ก็ใช้เส้นทางจากเวียงจันทน์เข้าศรีเชียงใหม่ โพธิ์ตาก บ้านผือ และไปหลบซ่อนส้อมสุมกำลังพลที่สุวรรณคูหา ขอให้ดูลักษณะศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป เสมา การจำหลัก เจดีย์ต่างๆ และยังปรากฏจารึกที่เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีว่า พระองค์ทรงประกาศกัลปนาที่บริเวณวัดถ้ำถวายแด่พระศาสนา การหลบลี้หนีพระราชภัยของ พระวอ พระตา ที่หลบหนีพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ก็อาศัยเส้นทางจากศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ มาบ้านผือ และเข้าไปตั้งชุมชนอยู่ที่หนองบัวลำภู หรือนครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน เมื่อพระตาเสียชีวิตในการรบ พระวอจึงหนีไปอยู่ที่ดอนมดแดง อุบลราชธานี และถูกฆ่าที่ดอนมดแดง เป็นเหตุให้เจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ และได้เวียงจันทน์ไว้ในอำนาจแต่นั้นมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอบ้านผือ //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2496/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/D/...