สถานที่ท่องเที่ยว ของ อำเภอบ้านแหลม

แนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตำบลบางแก้ว
  • อ่าวกรุงเทพ (อ่าวไทยตอนใน รูปตัว ก) ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอำเภอบ้านแหลม โดยส่วนใหญ่มีลักษณะนิเวศวิทยาป่าชายเลน ชึ่งแต่ละปีมีการสะสมตะกอนจากกระแสน้ำที่ไหลจากแม่น้ำต่าง ๆ ออกสู่อ่าวไทย รูปตัว ก (อ่าวกรุงเทพ) ทำให้ชายฝั่งตั่งแต่เหนือสุดของเขตอำเภอบ้านแหลมถึงแหลมหลวง มีลักษณะป่าชายเลน เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ บริเวญทะเลอ่าวกรุงเทพในเขตอำเภอบ้านแหลมยังเป็นจุดชม "ฝูงวาฬบรูด้า" และ "ฝูงโลมา"ชนิดอื่น ๆ
  • ปากอ่าวบางตะบูน ตั้งอยู่ตำบลบางตะบูน จากตัวเมืองเพชรบุรีไปบ้านแหลมระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปบางตะบูนเป็นระยะทางอีก 8 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และประมงชายฝั่ง อีกทั้งเป็นที่ชมนกกาน้ำใหญ่ และนกนา ๆ ชนิด และยังเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ
  • หมู่บ้านบางขุนไทร ตั้งอยู่ตำบลบางขุนไทร จากตัวเมืองเพชรบุรีไปบ้านแหลมระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปบางขุนไทรเป็นระยะทางอีก 7 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บหอยเสียบ โดยใช้กระดานเลื่อนไปบนผิวเลน
  • แหลมหลวง อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดียวกับทางไปหาดเจ้าสำราญ โดยแยกซ้ายก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย ลักษณะเป็นปลายแหลมของหาดทรายยื่นยาวออกไปในทะเลถึง 2 กิโลเมตร เป็นชายทะเลที่สามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
  • บางแก้ว จากตำนานเล่าว่ามีสำเภาจากประเทศจีนได้แล่นเรือเข้ามาค้าขายแล้วประสบกับพายุเกิดอับปางลง ทำให้สินค้าที่เป็นแก้วแตกกระจาย แล้วคลื่นก็พัดขึ้นสู่ชายฝั่งที่เป็นกระซ้าขาว เมื่อยามต้องแสงตัววันแล้วไซ้ ก็เกิดเป็นแสงแวววาวระยิบระยับจับตายิ่งนัก พื้นที่อ่าว ณ บริเวณนี้ที่มีการกัดเซาะของชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างมาก หลังจากที่ชาวบ้านได้เข้าไปขุดกระซ้าที่อยู่ชายทะเลออกขายให้แก่นายทุน พอถึงช่วงเวลาที่มีมรสุม กระแสน้ำก็ไหลพัดเข้าสู่ชายฝั่ง จนทำให้หมู่บ้านของตำบลบางแก้วหายไปเป็นหมู่บ้าน ผืนแผ่นดินไทยบริเวณนี้กลายเป็นทะเลไปวัดระยะจากชายทะเลเดิมได้กว่ากิโลเมตร บริเวณอ่าวไทยในช่วงบางแก้วนี้ จะมีหอยแครง หอยปากเป็ด (หอยราก) หอยเสียบ หอยขาว และหอยตระกายชุกชุมมาก จึงเหมาะแก่การรอพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป
  • วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว เรียกกันว่า "หลวงพ่อเขาตะเครา" มีชาวเมืองและนักท่องเที่ยวไปกราบไหว้ปิดทองเป็นอันมาก จนกระทั่งบัดนี้แลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม มีประวัติเล่าถึงหลวงพ่อองค์นี้ว่า เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์ เพิ่มเติมจาก 3 องค์คือ หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และหลวงพ่อวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ด้วย

ที่มาของพระพุทธรูปนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา ตอนที่ชาวบ้านแหลม เมืองเพชรบุรีหนีพม่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลองจนกระทั่งกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้นั้น วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าวได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม (ปัจจุบันคือวัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม) ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม

ในปลาย พ.ศ. 2317 กรมพระเทพามาตย์ หรือ สมเด็จพระพันปีหลวง (นางนกเอี้ยง) ทิวงคต (สิ้นพระชนม์) ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้านางเธอ กรมหลวงเทวินทร์สุดา และพระยาธิเบศร์บดี เป็นผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้างวัดที่ บ้านแหลม ซึ่งเป็นชาติภูมิ (ถิ่นกำเนิด) ของกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ พระราชชนนีพันปีหลวง เป็นการอุทิศบุญกุศลถวาย โดยพระองค์ได้พระราชทานศาสนสถาน ศาสนวัตถุที่มีความงดงาม และทรงคุณค่ามากมาย เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติ และเป็นสถานที่ ที่ควรค่าแก่การจดจำจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อไป

วัดนี้ชาวบ้านเรียก วัดกลางสนมจัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมูลเหตุมาจากลักษณะของสถานที่ตั้ง เพราะวัดตั้งอยู่ใจกลางชุมชน หรือกลางบ้านเรือนราษฎร และอีกมูลเหตุหนึ่ง เนื่องมาจากผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้างวัดแห่งนี้ คือ พระเจ้าน้านางเธอ กรมหลวงเทวินทร์สุดา นามเดิมชื่อ จัน (จากการสันนิษฐาน เมื่อนางจันเข้ามาอยู่ในรั้ววัง คงเปลี่ยนชื่อจาก จัน เป็น อั๋น เพราะคนในยุคสมัยนั้นนิยมใช้ชื่อ จันทร์ หรือ จัน หรือไม่ประวัติศาสตร์อาจจะบันทึกผิดพลาดจาก จัน เป็น อั๋น) ซึ่งมีถิ่นกำเนินอยู่ที่บ้านแหลม เป็นพระขนิษฐาใน กรมพระเทพามาตย์ หรือ สมเด็จพระพันปีหลวง (นางนกเอี้ยง) พระชนนีใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ชาวบ้านเห็นว่า นางจัน เข้าไปอยู่ในรั้วในวัง จึงเข้าใจว่านางจันเป็นพระสนม และพากันเรียกว่า สนมจัน เมื่อนำมูลเหตุทั้งสองมารวมเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นชื่อวัดกลางสนมจัน แต่ต่อมาภายหลังชาวบ้านได้พากันเรียกชื่อวัดเพี้ยนไปเป็นวัดกลางสนามจันทร์ และมาสรุปตรงชื่อ วัดในกลาง จนถึงปัจจุบัน[5]