ประวัติอำเภอปง ของ อำเภอปง

          ปง เป็นอำเภอที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง เป็นอำเภอขึ้นชื่อในเรื่องการทำไม้และยาสูบ มีที่มา 2 ทัศนะ คือ มาจากตำนานพระธาตุดอยหยวกที่พญานาคราชขออดโทษ หรือ ขมา ภาษาพื้นเมืองว่า ป๋งโตษ ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมาในคราวครั้งนั้นและต่อมามีการสร้างพระธาตุดอยหยวก          อีกทัศนะหนึ่งมาจากตำนานปรัมปราเล่าว่า ปู่ฟ้าโง้ม ซึ่งโดยปกติจะมีรูปร่างที่ใหญ่โตมโหฬารเวลาเดินไปไหนมาไหนต้องก้มหัวลงเพื่อไม่ให้ถูกฟ้า (โง้ม คืออาการที่คนก้มหัวหลบ) ได้หนึ้งข้าว คือหุงข้าวเหนียว แล้วปง หรือปลดลง ณ บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาบริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าเมืองปง

พงศวดารเมืองน่าน ปรากฏชื่อเมืองปงครั้งเมื่อพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์อาณาจักรล้านนา ยกทัพมาตีเมืองน่าน พ.ศ. 1993 ปรากฏความหนึ่งว่า เจ้าแพงเสี้ยงกรรมไปในปีก่าเป้า จุลสกราชได้ 797 ตัวหั้นแล ได้ 15 ชั่ววงศาก่อนแล เจ้าอินทะแก่นท้าวก็ได้เสวยเมืองแทนก็ในปีก่าเป้านั้นหั้นแล ท่านอยู่เสวยเมืองขั้นถ้วน 2 นี้ได้ 16 ปีท่านมีลูกชาย 1 หญิง 1 แล เมื่อนั้นท่านแต่งผู้ใช้เอาเกลือบ่อมางไปเป็นแขกถวายพระยาติโลกเมืองเชียงใหม่หั้นแล ลูนแต่นั้นหน้อยหนึ่ง พระยาติโลกมั่กใครได้เมืองน่านไปส่วยค้ำเมืองเชียงใหม่ ก็จึงขับเอาจตุรงคเสนา 4 จำพวกรี้พลศึกทั้งหลายมวลพร้อมแล้วท่านก็เสด็จออกจากเมืองพิงค์เชียงใหม่ ท้าวก็ข่มไพร่พลไปทางเมืองลอ เอาชาวลอเป็นหัวหน้ามา เมืองปง เมืองควน ลงมาทางตีนดอยวาวรอดเมืองน่านแล้วก็ตั้งทัพอยู่สวนตาลหลวงหั้นแล้วก็ตั้งอะม็อกสีนาดยิงเข้าทางประตูอู่ญานโห่ร้องคุมเวียงหั้นแล เมื่อพระยาแก่นท้าวบ่อาจจักต่อรี้พลท้าวตนใหญ่ได้จึงเอาลูกและเมียหนีไปเมืองใต้ไปพึงพระยาชะเลียงสหายตนหั้นแลฯ

พ.ศ. 1871 ได้ปรับปรุงเขตการปกครองระหว่างเมืองเชียงแสน-พะเยา โดยมีพันนาเชียงแสนทั้งหมดมี 65 พันนา ซึ่งมีพันนา เมืองปง เมืองงิม เมืองควน เมืองมวน เมืองสระเอียบ รวมอยู่ด้วย

พ.ศ. 2437 ในรัชกาลที่ 4 และตอนต้นรัชกาลที่ 5 ไทยเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส และอังกฤษ เพื่อรักษาเอกราชไทยจึงพยายามปรับปรุงการปกครองประเทศเสียใหม่ โดยรวมอำนาจบริหารทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลาง ได้โอนงานปกครองส่วนภูมิภาคให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียว

พ.ศ. 2440 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ทั่วราชอาณาจักร กำหนดจัดการปกครองแบ่งเป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นหน่วยปกครองเล็กที่สุด ถัดขึ้นไปเป็นตำบลและอำเภอ

พ.ศ. 2442 เมืองปงตั้งเป็นแขวงขุนยมขึ้นกับเมืองน่าน พระยาศรีสหเทพ ( ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ) ได้ขึ้นมาตรวจจัดราชการในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ พระยาสุนทรนุรักษ์ ( ข้าหลวงประจำเมืองน่าน ) เจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดชฯ ( เจ้านครเมืองน่าน ) เค้าสนามหลวงเมืองน่าน ได้ประชุมตกลงกันแบ่งเขตการปกครองเมืองน่านออกเป็น 8 แขวง

  1. แขวงนครน่าน
  2. แขวงน้ำแหง
  3. แขวงน่านใต้
  4. แขวงน้ำปัว
  5. แขวงขุนน่าน
  6. แขวงน้ำของ ( มีเมืองคอบ เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน เมืองเงิน ที่ว่าการแขวงตั้งอยู่ที่เมืองเชียงลม )
  7. แขวงน้ำอิง
  8. แขวงขุนยม ( มีเมืองเชียงม่วน เมืองสะเอียบ เมืองสระ เมืองสวด เมืองปง เมืองงิม เมืองออย เมืองควน ที่ว่าการแขวงตั้งอยู่ที่เมืองปง )

เนื่องจากนครเมืองน่านมีพื้นที่กว้างขวาง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขาระยะทางระหว่างเมืองต่างๆอยู่ห่างไกล แม้จะเพิ่มเขตปกครองเป็น 8 เขตแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยได้ทั่วถึง จึงได้มีการรวมหัวเมืองต่างๆเข้าด้วยกันตั้งเป็นบริเวณ โดยเริ่มตั้งบริเวณน่านตะวันออกก่อน แล้วตามมาด้วยบริเวณน่านเหนือ และบริเวณน่านใต้ บริเวณน่านเหนือประกอบด้วย

  1. แขวงน้ำอิง
  2. แขวงน้ำของ
  3. แขวงขุนยม (เมืองป๋งจึงขึ้นอยู่กับบริเวณน่านเหนือ)

พ.ศ. 2443 พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองมหาดไทยขึ้นไปตรวจจัดราชการในหัวเมืองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ได้ประกาศการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น "แขวง"

  • ได้มีการยุบแขวงขุนยม ที่มีเมืองปง เมืองควน เมืองเชียงม่วน เมืองสะเอียบ เมืองสระ เมืองสวด เมืองงิม เมืองออย ที่ว่าการแขวงตั้งอยู่ที่เมืองปง ซึ่งมีพ่อเมืองปกครอง ขึ้นต่อนครน่าน และมีศูนย์รวมการปกครองที่เมืองเชียงคำ เรียกว่าเขตน่านเหนือ
  • รัฐบาลไทยจึงได้ออกข้อบังคับสำหรับการปกครองมณฑลพายัพ ร.ศ.119 กำหนดให้ใช้ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ในมณฑลพายัพทุกมาตรา แต่ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งในการปกครองต่างๆที่เป็นภาษาไทยให้เป็นภาษาพื้นเมือง เพื่อให้ราษฎรเข้าใจได้ง่าย คือ
  • ข้าหลวงเทศาภิบาล ให้เรียกว่า ข้าหลวงใหญ่
  • ผู้ว่าราชการเมือง ให้เรียกว่า เค้าสนามหลวง
  • อำเภอ ให้เรียกว่า แขวง
  • นายอำเภอ ให้เรียกว่า นายแขวง
  • ตำบล ให้เรียกว่า แคว่น
  • กำนัน ให้เรียกว่า นายแคว่น
  • ผู้ใหญ่บ้าน ให้เรียกว่า แก่บ้าน

พ.ศ. 2447 ไทยเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส บริเวณน่านเหนือจึงถูกตัดแขวงน้ำของออกไป คงเหลือแต่แขวงน้ำอิง และแขวงขุนยม จึงได้มีการจัดการการปกครองใหม่ รวบรวมเมืองต่างๆ ในบริเวณน่านเหนือ แล้วแบ่งใหม่มีทั้งสิ้น 18 เมือง คือ

  1. เมืองเชียงคำ
  2. เมืองเชียงแลง
  3. เมืองเทิง
  4. เมืองเชียงของ
  5. เมืองลอ
  6. เมืองมิน
  7. เมืองยอด
  8. เมืองสะเกิน
  9. เมืองออย
  10. เมืองงิม
  11. เมืองควร
  12. เมืองปง
  13. เมืองแม่จุน
  14. เมืองสระ
  15. เมืองท่าฟ้า
  16. เมืองเชียงม่วน
  17. เมืองสะเอียบ
  18. เมืองสวด

พ.ศ. 2453 กระทรวงมหาดไทยมีประกาศยกจังหวัดพายัพเหนือ ตั้งเป็นเมืองจัตวาเรียกว่าเมืองเชียงราย รวมอยู่ในมณฑลพายัพ ทำให้เขตบริเวณน่านเหนือได้ถูกแบ่งเสียใหม่

  • เมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงราย ดังนี้
  1. เมืองเชียงคำ
  2. เมืองเชียงของ
  3. เมืองลอ
  4. เมืองแม่จุน
  5. เมืองมิน
  6. เมืองเชียงแลง
  • เมืองที่ขึ้นกับเมืองน่านดังเดิม มีดังนี้
  1. เมืองปง
  2. เมืองงิม
  3. เมืองควร
  4. เมืองออย
  5. เมืองสระ
  6. เมืองเชียงม่วน
  7. เมืองสะเอียบ
  8. เมืองสวด
  9. เมืองเทิง
  10. เมืองสะเกิน
  11. เมืองยอด

พ.ศ. 2456 ได้รับประกาศฐานะเป็นอำเภอปง และได้โอนไปขึ้นกับ จังหวัดน่าน มีพื้นที่ครอบคลุมดังนี้

  1. เมืองออย
  2. เมืองงิม
  3. เมืองสะเกิน (อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ปัจจุบัน)
  4. เมืองยอด (อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ปัจจุบัน)
  5. เมืองปง
  6. เมืองควร (รวมบ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในปัจจุบัน)
  7. เมืองสระ (อำเภอเชียงม่วน ปัจจุบัน)
  8. เมืองเชียงม่วน (อำเภอเชียงม่วน ปัจจุบัน)
  9. เมืองสวด (อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ปัจจุบัน)
  10. เมืองสระเอียบ (อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ปัจจุบัน)

พ.ศ. 2463 ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอปง เป็น อำเภอบ้านม่วง จ.น่าน (ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บ้านม่วง ตำบลปง ในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2486 กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงท้องที่ต่างๆทั่วประเทศ ก็ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบ้านม่วง มาเป็น อำเภอปง อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับชื่อของตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอปง

พ.ศ. 2495 ได้มีการโอนอำเภอปง จังหวัดน่าน มาขึ้นกับจังหวัดเชียงราย ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2495 ได้มีเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • โอนอำเภอปง จังหวัดน่าน มาขึ้นกับจังหวัดเชียงราย
  • โอนตำบลสวด อำเภอปง ไปขึ้นกับจังหวัดน่าน (ปัจจุบันยกฐานะเป็นอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน)
  • โอนตำบลสะเอียบ อำเภอปง ไปขึ้นกับอำเภอสอง จังหวัดแพร่

นอกจากนั้นยังมีกำหนดให้เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในเขตจังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่านดังนี้

อำเภอปง จังหวัดเชียงราย จึงเหลือ 7 ตำบลดังนี้

  1. ปง
  2. ควน (ควร)
  3. งิม
  4. ผาช้างน้อย
  5. ออย
  6. สระ (อ.เชียงม่วน ปัจจุบัน)
  7. เชียงม่วน (อ.เชียงม่วน ปัจจุบัน)
         พ.ศ. 2518 ได้มีการแบ่งพื้นที่ตำบลสระ ตำบลเชียงม่วน ออกจากอำเภอปง จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งตำบลบ้านมางอีกหนึ่งตำบล รวมเป็น กิ่งอำเภอเชียงม่วน จังหวัดเชียงราย ขึ้นตรงกับอำเภอปง 

วันที่ 20 สิงหาคม 2520 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยา และได้โอนอำเภอปง จากการปกครองของจังหวัดเชียงราย ให้มาขึ้นอยู่ในปกครองของจังหวัดพะเยา- มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอเชียงม่วน ขึ้นตรงกับอำเภอปง เป็นอำเภอเชียงม่วน ขึ้นตรงกับจังหวัดพะเยา

วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 อำเภอพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา นับเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอปงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลงิม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลงิม
  • เทศบาลตำบลปง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลปงและบางส่วนของตำบลนาปรัง
  • เทศบาลตำบลแม่ยม[1] ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลปง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลควร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลควรทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลออย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลออยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลงิม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลงิม (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลงิม)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลผาช้างน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลผาช้างน้อยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาปรัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาปรัง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลปง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขุนควรทั้งตำบล