เศรษฐกิจ ของ อำเภอปราสาท

สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของอำเภอปราสาทอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี การกระจายความเจริญอยู่ในระดับปานกลาง สภาพคล่องทางเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนในระบบตลาดอยู่ที่ลำดับที่2ของจังหวัดสุรินทร์ (รองจากอำเภอเมืองสุรินทร์) การเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมใน พ.ศ. ธันวาคม 2561 มียอดการลงทุนสะสม อันดับ 2 ของจังหวัดสุรินทร์ ที่ อ.ปราสาท 53 โรงงาน/เงินลงทุน 6,007.884 ล้านบาท/แรงงาน 2,729 คน

( อ.เมือง 229 โรงงาน/เงินลงทุน 7,854.225 ล้านบาท/แรงงาน 4,093 คน อ.ปราสาท 53 โรงงาน/เงินลงทุน 6,007.884 ล้านบาท/แรงงาน 2,729 คน ข้อมูลจาก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ )

สาเหตุที่ทำให้อำเภอปราสาทมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้วางยุทธศาสตร์ให้จังหวัดสุรินทร์เป็นหนึ่งในประตูสู่อินโดจีนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกของอาเซียน อำเภอปราสาทมีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเส้นทางการขนส่งที่มีถนนสายสำคัญผ่านสองสายคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24(ถนนสีคิ้ว-เดชอุดม) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาผ่านเข้าสู่เขตจังหวัดบุรีรัมย์(อำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติและอำเภอประโคนชัย) เข้าเขตจังหวัดสุรินทร์ที่อำเภอปราสาท ผ่านอำเภอสังขะ เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษและและไปสิ้นสุดที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสามารถออกสู่ประตูอินโดจีนที่ด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานีได้

ปัจจุบันการเดินทางจากอำเภอปราสาท โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24(ถนนสีคิ้ว-เดชอุดม) ไปยังกรุงเทพมหหานครเป็นถนน4ช่องจราจรจนถึงแยกต่างระดับอำเภอสีคิ้ว ถนนสายสำคัญอีกเส้นหนึ่ง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214(กาฬสินธุ์-ช่องจอม) มีจุดเริ่มต้นจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม เข้าสู่จังหวัดสุรินทร์ที่อำเภอท่าตูม อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอปราสาท เข้าสู่อำเภอกาบเชิงและสิ้นสุดที่ประตูอินโดจีน ช่องจอม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 68 ของกัมพูชาทีทางรัฐบาลไทยให้เงินช่วยเหลือในการพัฒนาเส้นทาง จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทำให้อำเภอปราสาท อยู่ในฐานะที่เป็นดินแดนเชื่อมโยงของจังหวัดและของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้การลงทุนในอำเภอปราสาทขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางปีที่เกิดภาวะถดถอยบ้าง จากภาวะเศรษฐกิจโลกและความไม่มั่นคงทางการเมืองของประเทศ อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของอำเภอปราสาทยังคงเสียเปรียบอำเภอประโคนชัยและอำเภอนางรอง ของจังหวัดบุรีรัมย์ได้ เนื่องจากอำเภอดังกล่าวมีที่ตั้งที่สามารถเชื่อมต่อสู่ภาคตะวันออกได้

ในภาคเกษตรกรรม มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมประเภทแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น โรงสีไฟ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป โดยอำเภอปราสาทมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น โรงงานน้ำตาล, โรงไฟฟ้า และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดใหญ่ เป็นต้น

ย่านการค้าที่สำคัญในตัวอำเภอมีดังนี้

  • เทศบาลตำบลกังแอน จุดศูนย์กลางของอำเภอ
  • ปราสาทเมืองใหม่ ตำบลบ้านพลวง ประชิดกับเขตเทศบาลตำบลกังแอน
  • เทศบาลตำบลนิคมปราสาท บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการอาชีพปราสาท และสำนักงานขนส่งจังหวัดสุรินทร์ สาขาอำเภอปราสาท