ประวัติศาสตร์ ของ อำเภอพนัสนิคม

อนึ่งเมืองพนัสนิคมเดิมเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีอาณาเขตเดิมอยู่ในอำเภออื่น ดังนี้

1.บ้านท่าตะกูด เป็นหมู่บ้านขึ้นกับเมืองพนัสนิคม สังกัดกรมท่า ในปี พ.ศ. 2441 มีการปฏิรูปการปกครองจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ยกฐานะเป็นอำเภอท่าตะกูดและในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพานทอง

2.ตำบลหนองอิรุณและตำบลคลองพลู เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2481 ได้โอนย้ายมาขึ้นกับอำเภอบ้านบึง ในปี พ.ศ. 2517 จัดตั้งตำบลหนองใหญ่โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลหนองอิรุณและตำบลคลองพลู ในปี พ.ศ. 2524 ยกฐานะเป็นอำเภอหนองใหญ่

3.ตำบลบ่อทอง เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2528 ยกฐานะเป็นอำเภอบ่อทอง

4.ตำบลท่าบุญมี เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2550 ยกฐานะเป็นอำเภอเกาะจันทร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงเก่าที่สุดที่พบในพนัสนิคมคือแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี สมัยหินใหม่ 3,500-4,000 ปีมาแล้ว บริเวณบ้านโคกพนมดี ตำบลท่าข้าม โดยนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี มีลูกปัดนับแสนเม็ดฝังรวมอยู่ และแหล่งโบราณคดีหนองโน สมัยสำริด 2,700-3,100 ปีมาแล้ว บริเวณตำบลไร่หลักทอง

สมัยทวารวดี พบเมืองโบราณอายุราว 1,500 ปี บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ ต่อมาเรียกสมัยหลังว่าเมืองพระรถ (ชื่อสมมุติจากรถเสนชาดกในปัญญาสชาดก เป็นที่แพร่หลายในชาวลาว) อายุอยู่ในราวหลัง พ.ศ. 1000 เมืองโบราณยุคทวารวดีที่พนัสนิคมนี้ได้ลดความสำคัญลงและในที่สุดรกร้างไปราวหลัง พ.ศ. 1500 เพราะเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป แล้วมีบ้านเมืองแห่งใหม่ใกล้ทะเลเติบโตมีความสำคัญแทนที่

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม

พ.ศ. 2372 ภายหลังเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม ได้ไปเกลี้ยกล่อมครอบครัวลาวเมืองนครพนม ย้ายมาอยู่ที่เมืองพนัสนิคมอีกจำนวนหนึ่ง

พ.ศ. 2391 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเมืองพนัสนิคมยกไปทางบกปราบกบฏจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา มีพรรณนาไว้ในพระราชพงศาวดารฯ เรื่องเจ้าพระยาพระคลังกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาปราบจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา

พ.ศ. 2394 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเมืองพนัสนิคมร่วมเป็นกองกำลังอารักขาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มีพรรณนาในพระราชพงศาวดารฯ

พ.ศ. 2437 (ร.ศ.113) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองโดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแทนระบบกินเมือง (เจ้าเมืองสืบตระกูล) ทรงให้หัวเมืองทั้งหมดอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย เมืองพนัสนิคมจึงโอนย้ายจากกรมท่า มาสังกัดมณฑลปราจีน มีบันทึกว่า “รวมหัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1 เมืองนครนายก 1 เมืองพนมสารคาม 1 เมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า มณฑลปราจีน ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีน ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม”

พ.ศ. 2441 ประกาศข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง ร.ศ.117 เมืองพนัสนิคมเปลี่ยนเป็นอำเภอพนัสนิคม ขึ้นกับเมืองชลบุรี (ในปี พ.ศ. 2460 เปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัดชลบุรี) มณฑลปราจีน โดยเมืองพนัสนิคมมีเจ้าเมืองสืบทอดตำแหน่ง รวม 4 คน คือ 1.พระอินทอาษา (ท้าวอินทสาร ทุมมานนท์) 2.พระอินทราสา (ท้าวทุม ทุมมานนท์) 3.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวนิล ทุมมานนท์) 4.หลวงภักดีสงคราม (ท้าวบุญจันทร์ ทุมมานนท์) และมีนายอำเภอพนัสนิคมคนแรกคือ หลวงสัจจพันธ์คีรี ศรีรัตนไพรวัน เจฏิยาสัน คามวาสี นพ-คูหาพนมโขลน (บัว ไม่ทราบนามสกุล)

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอพนัสนิคม http://www.phanatnikhomcity.com/ http://www.phanatpittayakarn.com/ http://www.thai-tour.com/thai-tour/east/Chonburi/d... http://www.phyathaipalace.org/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://digital_collect.lib.buu.ac.th/dcms/files/52... http://digital_collect.lib.buu.ac.th/ojs/index.php... http://ecurriculum.mv.ac.th/thai/m.2/unit5/lesson5... http://itnet.rsu.ac.th/~surachai/panathist.html http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/o...