ประวัติศาสตร์ ของ อำเภอพุทไธสง

เมืองพุทไธสง ตามที่นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 12 อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเมืองพุทไธสงสร้างมา 3,000 ปีแล้ว จากการค้นพบเศษกระเบื้องและพระพุทธรูปที่ลำน้ำมูลที่บ้านวังปลัด ใบเสมาที่บ้านปะเคียบ พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ที่บ้านศีรษะแรตและ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเมืองโบราณของภาคอีสานใต้อยู่แถบลุ่มน้ำมูล-น้ำชี มีลักษณะต่าง ๆ แยกออกเป็นดังนี้

ลักษณะเมืองโบราณของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เราเรียกว่า “เมืองในสมัยทวาราวดี” ลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบมีลักษณะทรงกลม คล้ายเมืองโบราณในประเทศอังกฤษและประเทศจีน เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในแถบอีสานใต้ลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี จากการสำรวจของรองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลโภดม และของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทิวา ศุภจรรยาและคณะ ปรากฏว่ามีชุมชนโบราณที่มีลักษณะมีคูน้ำคันดินล้อมรอบในแถบลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีถึงจำนวน 671 แห่ง ลักษณะที่มาของคูน้ำคันดินแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ แบบสี่เหลี่ยมและแบบทรงกลม จากหลักฐานแบบสี่เหลี่ยมเกิดขึ้นในยุคที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศวรรษที่ 7 สำหรับแบบทรงกลมได้รับอิทธิพลจากเพื่อนบ้านที่มีอารยธรรมสูงกว่า และมีความมั่นคงทางการเมือง เกิดขึ้นราว 3,000 – 5,000 ปีมาแล้ว ก่อนสมัยทวาราวดีของอินเดีย ผศ. ทิวา ศุภจรรยา ให้ความเห็นว่า การสร้างคูน้ำคันดินรอบชุมชนนี้น่าจะเกิดขึ้นเองเป็นครั้งแรกในแถบลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชีและใกล้เคียงแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช จากจำนวนชุมชนที่มีคูน้ำคันดินทั้งภาคอีสานกว่า 700 แห่ง ความหนาแน่นของชุมชนอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้และเขตติดต่อระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา

โดยหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มชุมชนพุทไธสง ซึ่งมีเมืองพุทไธสงเป็นเมืองหลัก ประกอบไปด้วยชุมชนที่เป็นบริวารอีกจำนวน 15 ชุมชน ประกอบไปด้วย

เมืองขมิ้น (ในเขตบ้านคูณ ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง)

ดอนเมืองแร้ง (ในเขตตำบลบ้านจาน อำเภอพุทไธสง)

บ้านจิก (อำเภอพุทไธสง)

บ้านแดงน้อย(อำเภอพุทไธสง)

บ้านเบาใหญ่ (อำเภอพุทไธสง)

บ้านโนนสมบูรณ์(อำเภอพุทไธสง)

เมืองยาง(อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครรราชสีมา)

บ้านยาง(ตำบลบ้านยาง)

เมืองน้อย(อำเภอนาโพธิ์)

บ้านดู่(อำเภอนาโพธิ์)

บ้านจอก(อำเภอนาโพธิ์)

บ้านกู่สวนแตง(อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์)

บ้านกู่ฤๅษี (อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์)

บ้านหนองแวง(อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์)

ในยุคอารยธรรมขอมรุ่งเรือง ขอมได้เข้ามาครอบครองเมืองไทยตั้งแต่เขมรถึงเมืองสุโขทัย พุทไธสงเป็นเมืองหน้าด่านของขอม ก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มาขับไล่ขอมแล้วตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ยุคนี้จะเป็นยุคที่ขอมนำคนไทยสร้างเมืองโดยการขุดคูคลองล้อมรอบจุดที่ตั้งเมือง และเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานในช่วงอารยธรรมขอมนี้ ซึ่งจะเห็นจากหลักฐานการสร้างปราสาทหินในดินแดนแถบนี้ โดยมีการขุดคูเมืองเป็นคลองล้อมรอบเมืองเป็น 2 ชั้น ตามหลักฐานทางโบราณสถานคือ กู่สวนแตงที่บ้านกู่สวนแตง ตำบลกู่สวนแตง กุฏิฤๅษีที่บ้านกู่ฤๅษี ตำบลหนองเยือง ในเขตอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ พระธาตุบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์ ตามสายน้ำลำพังชูเป็นการก่อสร้างโดยใช้หินตัดแบบเดียวกับปราสาทหินพิมายและปราสาทหินพนมรุ้ง

เมืองพุทไธสง เป็นถิ่นที่อยู่ของคนไทยอีสานที่มาอยู่รวมกันในแถบลุ่มน้ำมูล เป็นดินแดนที่มีแม่น้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ทิศเหนือและทิศตะวันออกมีลำพังชู ที่ไหลจากอำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่นลงสู่แม่น้ำมูลที่ตำบลบ้านยาง ทิศใต้มีแม่น้ำมูล และลำสะแทดที่ไหลมาจากอำเภอคง นครราชสีมา ลงสู่แม่น้ำมูลที่ตำบลบ้านจาน ทิศตะวันตกมีลำแอกไหลมาจากอำเภอหนองสองห้องจังหวัดขอนแก่นและอำเภอสีดา นครราชสีมา ไหลลงลำสะแทดที่ตำบลหนองเยือง อำภอบ้านใหม่ไชยพจน์

ทั้งนี้จากหลักฐานต่างๆถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบุรีรัมย์ จะรวมกลุ่มกันตั้งถิ่นฐานอยู่ 3 เมืองใหญ่ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันคือ กลุ่มชาติพันธุ์เขมรจะรวมกลุ่มกันอยู่เมืองตลุง(ประโคนชัย) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราชจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เมืองนางรอง กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานหรือไทลาวจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เมืองพุทไธสง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเมืองอยู่เดิมแล้วในบริเวณที่กล่าวถึงนี้

ลักษณะทางทางภูมิศาสตร์ของเมืองพุทไธสง

ตัวเมืองมีคูเมืองเก่าที่เป็นคันคูน้ำอยู่จำนวน 2 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสงในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย

1.คูบึงชั้นนอกด้านทิศเหนือประกอบไปด้วย บึงสระบัวหรือบึงใหญ่ หนองเม็ก คูบึงชั้นในด้านทิศเหนือ มีบึงเจ๊กและบึงอ้อ ตั้งอยู่เขตหมู่ที่ 1 บ้านพุทไธสง ในเขตตำบลพุทไธสง รอบโนนที่ตั้งเมืองพุทไธสง

2.คูบึงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกประกอบไปด้วย บึงมะเขือ บึงบัวขาว ง คูบึงชั้นในด้านทิศตะวันออก มีบึงกลาง บึงสร้างนาง และมีหนองน้ำชั้นนอกคือหนองกระจับ หนองสรวง

3.คูบึงชั้นนอกด้านทิศใต้ประกอบไปด้วย บึงฆ่าแข่ ห้วยเตย หนองบัว คูบึงชั้นในด้านทิศใต้ มีบึงสร้างนาง หนองกระทุ่มหนา

4.คูบึงชั้นนอกด้านทิศตะวันตก มีหนองน้ำชื่อร่องเสือเต้น กั้นเขตแดนระหว่างโรงเรียนพุทไธสงและโรงเรียนตงศิริราษฎร์อนุสรณ์ในปัจจุบัน เป็นลักษณะบึงสั้นๆ ไม่ตลอดแนว และด้านนี้ไม่มีคูบึงชั้นใน ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสลับที่เนินเตี้ยๆ พื้นที่โดยรวมลาดเอียงจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่ดอนที่เรียกว่าโนน(เนิน)เมืองจำนวน 7 โนนดังนี้

1.โนนโรงเรียนพุทไธสงเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งคิวรถและตลาดสดเทศบาลตำบลพุทไธสง ในอดีตเป็นเนินใหญ่สุดและเป็นศูนย์กลางตั้งตัวเมืองจนถึงปัจจุบัน

2.โนนอนามัยเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพุทไธสง สถานีตำรวจภูธรพุทไธสง เป็นเนินที่มีความสูงที่สุด

3.โนนโรงเรียนนุบาลพุทไธสง (โอภาสประชานุกูล) เดิมมีน้ำล้อมรอบและใช้เป็นป่าช้าที่ฝังศพ

4.โนนบ้านโพนทอง เป็นโนนสูงกว้างใหญ่ หลังจากตั้งเมืองพุทไธสงใหม่ที่บ้านมะเฟือง มีข้าราชการจากเมืองมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ที่โนนแห่งนี้

5.โนนโรงเรียนตงศิริราษฎร์อนุสรณ์ เป็นโนนสูงด้านทิศตะวันตก หลังจากการขุดปรับแต่งหน้าดิน พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินปนหินขี้ตะกรันเหล็ก อาจเป็นแหล่งถลุงเหล็กทำเครื่องมือและอาวุธในอดีต

6.โนนหนองสรวงตั้งอยู่ทางทิศใต้ ลักษณะยาวตามทิศตะวันออกไปตะวันตก เป็นที่ตั้งบ้านโนนหนองสรวง

7.โนนอีแก้ว เป็นโนนสูงขนาดเล็กอยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์หม่อนไหมบุรีรัมย์สาขาพุทไธสง

หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองพุทไธสง คือพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ บ้านศีรษะแรต เป็นพระพุทธรูปประจำคู่เมืองพุทไธสง สร้างในช่วงราวปี พ.ศ. 1500 เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี เป็นที่เคารพ ของผู้คนทั่วไปมาตั้งแต่โบราณ สร้างด้วยมวลสารและยางบง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 2 เมตร จะมีงานนมัสการปิดทองพระเจ้าใหญ่ประจำทุกปีในช่วงวันเพ็ญเดือนสาม นอกจากนี้ยังมีหลักฐานพระพุทธรูปในสมัยเดียวกันในท้องที่อำเภอข้างเคียง เช่น พระพุทธรูปในลำน้ำมูล บ้านวังปลัด ใบเสมาบ้านปะเคียบ เขตอำเภอคูเมืองในปัจจุบัน องค์พระเจ้าใหญ่เป็นศิลปะการก่อสร้างที่แตกต่างไปจากขอม กล่าวคือเป็นศิลปะทางพระพุทธศาสนาโดยสันนิษฐานว่าคงสร้างตามอิทธิพลของอารยธรรมลาว(ล้านช้าง)ในถิ่นนี้ และยังมีพระธาตุ 1 องค์ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหารพระเจ้าใหญ่ ส่วนสูงของพระธาตุ 12 เมตร ฐานกว้าง 6 เมตร ก่อด้วยอิฐแดงไม่ฉาบปูนคงจะเป็นรุ่นเดียวกันกับพระธาตุพระพนมฝีมือลาวในสมัยทวารวดี ปัจจุบันได้สร้างพระธาตุใหม่ครอบไว้

ในยุคสุโขทัย-รัตนโกสินทร์

หลังจากที่สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ขยายอาณาเขตของราชอาณาจักรสุโขทัยออกไป เมืองพุทไธสงได้ถูกทำลายทิ้งไป พุทไธสงจึงเป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่ชุมชนคนไทยคงรวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนรอบๆ ตัวเมืองเดิม และต่อมามีผู้คนอพยพมาอยู่รวมกันมากขึ้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองพุทไธสงเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหน้าด่านกันชนให้ทั้งสามราชอาณาจักร สยาม ลาว เขมร พร้อมกับเมืองสำคัญที่เป็นเมืองหน้าด่านทางภาคอีสานซึ่งประกอบไปด้วย เมืองพิมาย เมืองกันทรลักษณ์ เมืองกันทรวิชัย เมืองพุทไธสง เมืองนางรอง เมืองตลุง(ประโคนชัย) เมืองเหล่านี้ต่างเป็นเมืองใหญ่มีประชากรมากและมีเจ้าเมืองปกครอง ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างไปอีกครั้งหนึ่ง

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เจ้าพระยาจักรี ทรงยกทัพไปตีเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตราวปี พ.ศ. 2318 ได้นำชายไทยจากเมืองพุทไธสงและหมู่บ้านรอบๆ ตัวเมืองไปเป็นไพร่พลรบด้วย และในจำนวนนี้มีท้าวเพียศรีปาก(นา) เพียเหล็กสะท้านผู้มีหน้าที่จัดทำอาวุธ เพียไกรสอนผู้มีหน้าที่เกณฑ์ไพร่พลทหารและทหารรวม 200 คนไปด้วย เพียศรีปากได้ทำการสู้รบด้วยความองอาจกล้าหาญ มีความสามารถ จนกองทัพไทยทำการสำเร็จได้รับชัยชนะกลับกรุงธนบุรี และได้กวาดต้อนผู้คนกลับมาเมืองไทยเป็นจำนวนมากช่วงกลับได้เดินทัพผ่าน หนองคาย นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม พุทไธสง และได้พักแรมที่หนองแสนโคตร ใกล้บ้านมะเฟือง และได้สำรวจตัวเมืองเก่า เพื่อตั้งเมืองพุทไธสงขึ้นใหม่ เห็นว่าเมืองเก่าถูกละทิ้งมานานเป็นป่ารกยากแก่การบูรณะ จึงให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านโนนหมากเฟืองและบ้านหัวแฮด ต่อมาท้าวเพียศรีปาก(นา) ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระเสนาสงคราม เจ้าเมืองพุทไธสงคนแรก โดยเมืองพุทไธสงได้แบ่งแยกพื้นที่จากเมืองสุวรรณภูมิ(เมืองท่งศรีภูมิ) ตั้งแต่พื้นที่ทิศตะวันตกของลำพังชูไปจรดถึงพื้นที่ติดลำแอก โดยให้ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา

อุปฮาดราชวงศ์

พระยาเสนาสงคราม เดิมชื่อ เพียศรีปาก(นา) เกิดที่นครจำปาศักดิ์ ราว พ.ศ. 2289 ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมาได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งในเขตเมืองสุวรรณภูมิ และในปี พ.ศ. ๒๓๐๘ เกิดเหตุจราจล เหตุจากการแย่งราชสมบัติในเมืองทุ่งศรีภูมิ (สุวรรณภูมิ) จึงได้พาไพร่คนในบังคับบัญชาของตนแยกออกจากเมืองทุ่งศรีภูมิ มาตั้งบ้านเมืองขึ้นเมืองที่ริมกำแพงเมืองเก่าผะไธสงฆ์ (พุทไธสง)


นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำศึกอีกหลายครั้ง เช่นเมื่อ พ.ศ. 2121 เมื่อคราวกบฏเจ้าโอ เจ้าอิน ที่เมืองนางรอง และเมื่อนครจำปาศักดิ์คิดแข็งเมืองฝักใฝ่ฝ่ายญวน ทางเมืองหลวงได้มีตราสาร มายังพระเสนาสงคราม ให้ยกกองกำลังไป-ปราบกบฏร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พระเสนาสงครามและท้าวหน่อพุทธางกูรหลวงเวียงพุทไธสงบุตรชาย ก็ร่วมกระทำศึกนี้จนสำเร็จ อย่างมิย่นย่อ ผลจากการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่เกิดผลสำเร็จด้วยดี ของพระเสนาสงครามอันเป็นที่ประจักษ์ต่อเบื้องยุคลบาท ครั้นในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาเสนาสงคราม

พระยาเสนาสงครามได้ปกครองเมืองพุทไธสงตั้งแต่ พ.ศ. 2318-พ.ศ. 2370 เป็นเวลา 52 ปี และถึงแก่กรรมในปีนั้น สิริอายุ 81 ปี พระยาเสนาสงคราม มีบุตรปรากฏนาม 2 คนคือ

  1. ท้าวหน่อพุทธางกูรหลวงเวียงพุทไธสง (พระยานครภักดี) ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแปะ(บุรีรัมย์)คนแรก
  2. ท้าวนา ต่อมาได้เป็นพระเสนาสงครามที่ 2 เจ้าเมืองพุทไธสงคนที่ 2 ต่อจากพระยาเสนาสงคราม ผู้เป็นบิดา เมื่อ พ.ศ. 2370 ปกครองเมืองพุทไธสงถึง พ.ศ. 2407 เป็นเวลา 37 ปี และถึงแก่กรรมในปีนั้น สิริอายุ 82 ปี

เมืองพุทไธสง มีเจ้าเมืองผู้ปกครองต่อมาคือ พระเสนาสงครามที่ 3 (บุตรพระเสนาสงครามที่ 2) เจ้าเมืองพุทไธสงคนที่ 3 ตั้งแต่พ.ศ. 2407-พ.ศ. 2440 เป็นเวลา 33 ปี

พุทไธสงในรูปแบบการปกครองปัจจุบัน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบเดิมและจัดการปกครองแบบใหม่ การปกครองหัวเมืองอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยเป็นการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น โดยเมืองพุทไธสง ได้รวมเขตการปกครองเข้ากับมลฑลนครราชสีมา และถูกลดฐานะเป็นอำเภอพุทไธสง ขึ้นกับจังหวัดบุรีรัมย์

ในปี พ.ศ. 2442 พระรังสรรค์สารกิจ (เลื่อน) ข้าหลวงประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้ย้ายที่ตั้งอำเภอพุทไธสงขึ้นใหม่ที่บริเวณที่ดินในคูเมืองในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสงในปัจจุบัน ซึ่งเดิมนั้นเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ป่า มีภูมิแข็ง มีไก่ป่า นกกระทา ชาวบ้านจะแตะต้องไม่ได้ถ้ามีใครแตะต้องจะต้องเป็นไข้ตาย ลงท้องตาย อาศัยพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินเบิกป่าจึงสามารถผ่าเหตุการณ์ไปได้สะดวกและสามารถสร้างเมืองใหม่ได้สำเร็จ ทางราชการได้แต่งตั้งให้หลวงเจริญทิพยผลเป็นนายอำเภอพุทไธสงคนแรก โดยแต่แรกเริ่มนั้น แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 ตำบล มีพื้นที่ 760 ตารางกิโลเมตร

1.ตำบลพุทไธสง

2.ตำบลบ้านจาน

3.ตำบลบ้านเป้า

4.ตำบลหนองแวง

5.ตำบลทองหลาง

6.ตำบลบ้านดู่

7.ตำบลบ้านคู

8.ตำบลนาโพธิ์

9.ตำบลมะเฟือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้แบ่งเขตการปกครอง ตำบลนาโพธิ์ ตำบลบ้านคู ตำบลบ้านดู่ จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาโพธิ์ พื้นที่ 255 ตารางกิโลเมตร

และในปี พ.ศ. 2535 ได้แบ่งเขตการปกครอง ตำบลหนองแวง ตำบลกู่สวนแตง(แบ่งเขตการปกครองจากตำบลหนองแวงในปี พ.ศ. 2528) ตำบลทองหลาง ตำบลหนองเยือง(แบ่งเขตการปกครองจากตำบทองหลางในปี พ.ศ. 2530) และพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านเป้าจัดตั้งเป็นตำบลแดงใหญ่ จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ พื้นที่ 175 ตารางกิโลเมตร

ดังนั้นอำเภอพุทไธสง จึงเหลือพื้นที่เขตการปกครอง 4 ตำบล พื้นที่ 330 ตารางกิโลเมตร และต่อมาได้แยกเขตการปกครองเพิ่มขึ้นอีก 3 ตำบล รวมเป็น 7 ตำบลในปัจจุบัน

1.ตำบลพุทไธสง

2.ตำบลมะเฟือง

3.ตำบลบ้านจาน

4.ตำบลบ้านเป้า ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนแยกไปจัดตั้งเป็นตำบลแดงใหญ่ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์

5.ตำบลบ้านแวง (แยกจากตำบลพุทไธสง)

6.ตำบลบ้านยาง (แยกจากตำบลมะเฟือง)

7.ตำบลหายโศก (แยกจากตำบลบ้านจาน)