ประวัติ ของ อำเภอสนม

  • ในสมัยอาณาจักรเขมร มีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7ทรงปกครองอาณาจักรและแผ่ขยายอาณาเขต โดยการสร้างปราสาท โดยที่อำเภอสนมก็อีกแห่งหนึ่ง โดยสันนิษฐานว่าอาจเคยเมืองหรือหมู่บ้านขนาดใหญ่มาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1,200 ปี ปราสาทก็ถูกทิ้งร้าง

จนเมื่อในปีพ.ศ. 2425 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(2411 – 2453) ฝ่ายเมืองรัตนบุรี(ขณะนั้นขึ้นต่อเมืองพิมาย)ได้เกิดวิวาทกัน หลวงจินดานุรักษ์(ท้าวอุทา หรือท้าวอุดทา หลวงจินดารักษ์)) บุตรพระศรีนครชัย เจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า ได้นำบัญชีหางว่าว กรมการขุนหมื่นตัวเลขของพระศรีนครชัย ผู้เป็นบิดา รวม 500 คนเศษ ซึ่งเป็นราษฎรจากบ้านหวาย (รัตนบุรี) บ้านผือ บ้านไผ่ บ้านช่อง บ้าน นาวอง บ้านแก บ้านจ้อ บ้านทับ บ้านโพธิ์ ไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองสนม แขวงเมืองรัตนบุรี ได้ไปร้องทุกข์ ณ ศาลาว่าการลูกขุน กล่าวหาว่า พระศรีนครชัยเจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่ากดขี่ข่มเหงได้รับความเดือดร้อน จะขอสมัครไปขึ้นกับเมืองสุรินทร์

จึงมีตราโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์(ม่วง) รับหลวงจินดานุรักษ์และขุนหมื่นตัวเลขให้ทำราชการขึ้นกับเมืองสุรินทร์ ตามใจสมัคร พระยาสุรินทร์ (ม่วง) จึงตั้งให้หลวงจินดานุรักษ์เป็นที่พระภักดีพัฒนากร ควบคุมสำมะโนครัวตัวเลขเสียส่วยขึ้นกับเมืองสุรินทร์ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองสนม และต่อมาเมืองสุรินทร์ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านหนองสนมเป็นเมืองสนม

ครั้นพ.ศ. 2435 เมืองรัตนบุรีกล่าวโทษเมืองสุรินทร์ว่าแย่งชิงดินแดน มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2425 หลวงจินดานุรักษ์บุตรพระศรีนครชัยเจ้าเมือง รัตนบุรีคนเก่า กับขุนหมื่นตัวไพร่ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านหนองหนองสนม แขวงเมืองรัตนบุรีร่วม 500 คนเศษ ร้องสมัครไปขึ้นต่อเมืองสุรินทร์ และเมืองสุรินทร์ได้ร้องขอหักโอนคนเหล่านั้น ตามท้องตราประกาศเดิม ซึ่งอนุญาตให้ได้อยู่ตามใจสมัครนั้น และต่อมาเมืองสุรินทร์ไปขอตั้งบ้านหนองสนมเป็นเมืองสนม ขึ้น ต่อมาเมืองสุรินทร์ได้มีใบบอก ถึงพระยามหาอำมาตย์ฯ ( หรุ่น ศรีเพ็ญ ) ซึ่งเป็นข้าหลวงลาวกาวข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์(ต่อมาเรียกว่ามณฑลอีสาน)อยู่ในเวลานั้นให้ไต่สวนแล้ว พระยามหาอำมาตย์ ( หรุ่น ศรีเพ็ญ ) จะได้ไต่สวนหรือประการใด ก็หาได้บอกมากรุงเทพฯไม่ การก็ติดอยู่เพียงนั้น และบ้านหนองสนมก็ยังมิได้โปรดฯให้ยกขึ้นเมืองสุรินทร์ แล้วจึงให้ข้าหลวงปักปันเขตแดนสุรินทร์กับรัตนบุรี ต่อไป ส่วนคนที่อยู่ในเขตบ้านหนองสนมเท่าใด ก็ให้เป็นคนสังกัดเมืองรัตนบุรีตามเดิม จึงเป็นอันว่าบ้านหนองสนม ยังคงอยู่ในอาณาเขตของเมืองรัตนบุรีต่อไป (หลักศิลาปักเขตแดนระหว่างเมืองสุรินทร์กับเมืองรัตนบุรียังปรากฏอยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลโพนโก และที่วัดแท่นศิลา บ้านแท่น ตำบลนานวน ในปัจจุบัน)

แม้จะไม่ได้ขึ้นต่อเมืองสุรินทร์ แต่พระภักดีพัฒนากร ก็ไม่ยอมขึ้นต่อเมืองรัตนบุรี จึงได้ขอไปทำราชการกับเจ้าเมืองสุรินทร์ อยู่จนถึงแก่กรรม ลูกหลานซึ่งประกอบไปด้วย แม่เขียน แม่จูม แม่เปี่ยม และลูกเขยคือนายเพ็ชร์ สวยสะอาด ได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ วัดบึง บ้านสนม ตำบลสนม เมื่อปี 2480โดยจารึกว่า “ นายเพชร สวยสะอาดพร้อม บุตร ภรรยา ร่วบริจาคเงินรวม52บาท สร้างเจย์ดีกวม ธาตุ ยาพ่อพระภักดีพัฒยากรณ์ เจ้าเมืองนครสนม ”

ระหว่างปี พ.ศ. 2425-2435 พระภักดีพัฒนากร ได้ทำราชการขึ้นต่อเมืองสุรินทร์ โดยมีที่ทำการอยู่ทางทิศตะวันตกวัดธาตุ (ปัจจุบันเป็นที่ดินบ้านแม่วิไลวรรณ กำลังกล้า) เป็นอาคารชั้นเดียวมุงหญ้าคาซึ่งเป็นที่ดินของของหลวงเมืองในสมัยนั้น และ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศฐาบันดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาภักดีพัฒยากรณ์ พร้อมด้วยอีก 3 ชื่อ

นอกจาก พระยาภักดีพัฒนากร หรือพระยาพิพัตรภักดี หรือพระยาพิพัฒน์ภักดีพัฒยากรณ์ เจ้าเมือง แล้วยังแต่งตั้งคณะกรรมการเมือง อีกมากเป็นต้นว่า หลวงเมือง (นายคำมี) หลวงจำเริญ (นายสา) หลวงยกกะบัตร( นายเหลา) หลวงปรีชา หลวงวัง หลวงพรหม ขุนเสมอใจ ขุนจำนงค์ ขุนอักขระ มหาราช บุตรราช เสหราช ขุนอาสา ขุนระวัง ขุนพิทักษ์ ขุนไชย ขุนวรราช ซึ่งบุคคลเหล่านี้คือตระกูลของชาวสนม ในเวลาต่อมาเป็นต้น

บรรดาท่าน ขุน หลวงทั้งหลาย มีหน้าที่คอยรับคำร้องทุกข์ของชาวบ้าน นำชาวบ้านสร้างทำนบหรือฝายเก็บกักน้ำใว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นต้น เวลาที่เหลือก็ทำอาชีพของตน เช่น สานแห สานครุ สานตะกร้า สานลอบ ไซ คนโบราณจึงเรียกว่า ” ลงสาน ” หมายถึง การลงจักสาน เช่น สุ่ม แห เป็นต้น.....

โดยมีหลักศิลาปักเขตแดนระหว่างเมืองสุรินทร์กับเมืองรัตนบุรี ที่บ้านหนองคู ต.โพนโก และบ้านหนองหลัก ต.หัวงัว ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองตามรูปแบบปัจจุบัน มีฐานะเป็นตำบลขึ้นกับ อ.รัตนบุรี ซึ่งระยะห่างจากอ.รัตนบุรี ประมาณ 18 กิโลเมตร การเดินทางติดต่อกับ อ.รัตนบุรี ได้รับความยากลำบาก ประกอบกับ อ.รัตนบุรี มีตำบลในปกครองถึง 18 ตำบลทำให้การดูแลทุกข์สุขประชาชนไม่ทั่วถึง จึงได้พิจารณาว่า ต.สนม เป็นจุดศูนย์กลางของตำบลใกล้เคียง ได้แก่ ต.โพนโก ต.แคน ต.นานวน ต.หนองระฆัง และ ต.สนม รวม 5 ตำบล มีความเหมาะสมที่จะขอแยกการปกครองยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ และได้รับประกาศยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2514 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฏีกา ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอสนม ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2520 เป็นต้นมา อำเภอสนม มีปราสาทอยู่หลังหนึ่ง ที่วัดธาตุสนม แต่ทางวัดได้รื้อออกไปหมดแล้ว แล้วสร้างพระอุโปสถทับ และได้ขุกเจอ เทวรูป ศิลปะลพบุรี แบบนครวัด รูปร่าง ไม่มีเศียร แขน ขา มีแต่ตัว ขณะนี้อยูที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์