สถานที่ท่องเที่ยว ของ อำเภอเกษตรสมบูรณ์

วัดป่าพระเจ้าองค์ตื้อ พระเจ้าองค์ตื้อพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ประมาณว่ามีอายุร่วม 2,000 ปี อยู่ที่บ้านท่าเดื่อ หมู่ 9 ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ องค์พระประธานก่อสร้างด้วยอิฐ ฉาบด้วยยางไม้ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.5 เมตร ปรางค์ประทานพร เชื่อกันว่ามีพุทธคุณที่สูงยิ่ง แต่ละวันมีผู้เดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันผู้มีจิตศรัทธาได้ทาองค์ด้วยสีทองทั้งองค์ ในเดือนเมษายน แรม 8 ค่ำ ของทุกปี ชาวเกษตรสมบูรณ์ จัดให้มีการสรงน้ำพระเจ้าองค์ตื้อสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี( "องค์ตื้อ" แปลว่า องค์ใหญ่ อันหมายถึงพระพุทธรูปองค์ที่มีขนาดใหญ่)

อนุสาวรีย์พระไกรสิงหนาทเจ้าเมืองคนแรกของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเกษตรสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง อนุสาวรีย์ตั้งอยู่ทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ห่างไปประมาณ 500 เมตร ที่ตั้งเป็นสวนสาธารณะ เนื้อที่ราว 3 ไร่ ทุกวันที่ 1 – 3 มีนาคม ของทุกปีชาวเกษตรสมบูรณ์จะพร้อมใจกันจัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ และรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตเจ้าเมืองท่านนี้

ศาลพระไกรสิงหนาท ศาลพระไกรสีหนาทตั้งอยู่ที่คุ้มกลางนอก ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จ. ชัยภูมิ ในทุก ๆ ปีของวันที่ 1 มีนาคมจะมีการอัญเชิญพระไกรสีหนาทไปที่อนุสาวรีย์พระไกรสีหนาท

พระธาตุกุดจอกลักษณะเป็นพระธาตุโบราณขนาดใหญ่เก่าแก่ มีอายุประมาณ 1,200 ปีตั้งอยู่ทางทิศใต้ บ้านยางน้อย ม.2 ต.บ้านยาง การก่อสร้างประณีต ยังมีสภาพสมบูรณ์ที่ประตูพระธาตุมีพระพุทธรูปไม้และสลักสูง 2 เมตรและมีพระธาตุอื่นๆกระจายอยู่ตามวัดต่างๆโดยรอบ เช่น พระธาตุจอบหมุบ พระธาตุพีพวย พระธาตุท่าลิง พระธาตุท่าคร้อ

ตั้งอยู่ที่ พระธาตุกุดจอก บ้านยางน้อย ตำบลบ้านยาง พระธาตุกุดจอก ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐ 2 องค์ องค์แรกมรีเรือนธาตุกลวง ภายในมีพระพุทธรูปหินปูนขนาดใหญ่ และพระพุทะรูปหินทรายปางมารวิชัยยอดเจดีย์องค์นี้มีฐานสูงประมาณ 5 ชั้น เป็นมุขยื่นและเป็นมุมอย่างสวยงามลักษณะของธาตุเจดีย์ทั้งสององค์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว มีอายุในราวพุทธศตวรรษ 19-20 ปัจจุบันมีสำนักสงฆ์อยู่บริเวณพระธาตุ มีพระจำพรรษาดูแลอยู่ ยอดเจดีย์หักพังลงมาเป็น่วนใหญ่ อยู่ห่างจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์ประมาณ 3 กิโลเมตร โดยเดินทางจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์ไปบ้านยางน้อยประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองชัยภูมิประมาณ 78 กิโลเมตร

พระธาตุท่าเลิงพระธาตุงูซอง หรือชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุท่าเลิง เป็นโบราณสถานซึ่งประกอบด้วยฐานวิหารก่ออิฐสอดิน ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของวิหารนี้ ก่อเป็นปรางค์หรือธาตุด้วยอิฐ ปัจจุบันได้พังทลายลง ส่วนอื่นๆของธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก บริเวณโดยรอบมีการบำรุงรักษาได้ดี และมีการกำหนดบริเวณที่แน่นอน การคมนาคมอยู่ห่างจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ไปทางอำเภอหนองบัวแดงประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง

พระธาตุพีพวยตั้งอยู่ที่บ้านพีพวย ตำบลสระโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นธาตุเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐสอปูนประกอบด้วยส่วนของฐานและยอด ฐานมีลักษณะคล้ายเรือนเหนือ เรือนธาตุทำเป็นกลีบบัวหงายและก่อเป็นบอดเรียวแหลมขึ้นไป คล้ายกับส่วนยอดของพระธาตุ เจดีย์ธาตุองค์นี้ยังคงเหลือร่องรอยของการฉาบผิวนอกด้วยปูนให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนวิหารนั้นก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียงฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์มีลักษณะของศิลปลาวประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 ปัจจุบันอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุพระธาตุปัจจุบันทรุดโทรมพอสมควรและบริเวณรอบๆพระธาตุชาวบ้านเข้ามาทำไร่เต็มบริเวณอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิไปตามถนนสายหนองบัวแดง-เกษตรสมบูรณ์ประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางจากนั้นแยกซ้ายเข้าบ้านพีพวยเป็นถนนลูกรังประมาณ 2 กิโลเมตรก็ถึงที่ตั้งของพระธาตุพีพวย

พระธาตุบ้านเปือยตั้งอยู่ที่บ้านเปือย ตำบลโนนกอก อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ธาตุบ้านเปือยเป็นธาตุก่อด้วยอิฐขนาดเล็ก มีฐานใหญ่ เรือนธาตุยอดสอบเข้าลักษณะเป็นแบบที่ได้รับอิฐพลจากศิลปลาวมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ปัจจุบันชาวบ้านได้ช่วยกันพํฒนารอบบริเวณองค์ธาตุ และกำหนดขอบเขตบริเวณให้เป็ฯที่แน่ชัดและสวยงามธาตุบ้านเปือย อยู่ห่างจากที่ตั้งอำเภอเกษตรสมบูรณ์ประมาณ 13 กิโลเมตร

ใบเสมาบ้านพันลำตั้งอยู่ในวัดเทวฤทธิ์สุวิมลมังคลาราม บ้านพันลำ หมู่ 3 ตำบลสระโพนทอง ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรได้ตรวจสอบแล้ว คาดว่ามีอายุประมาณ 1,800 ปี ใบเสมาปรากฏเป็นภาพแกะสลักนูนต่ำ มีเทวรูปประดิษฐานอยู่ตรงกลางใบเสมา ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อเทวฤทธิ์” ชาวบ้านได้จัดพิธีทำบุญสรงน้ำพระธาตุเสมาหินพันปีในวันที่ 18 เมษายนของทุกปี

ภูคิ้งและเขตรักษาพันสัตว์ป่าภูเขียวนับเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาภูเขียว มีระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปกติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโนนทอง ลักษณะทั่วไปเป็นภูเขาสูง มีธรรมชาติที่สวยงาม อากาศเย็น ร่มรื่นตลอดทั้งปี หน้าหนาวอากาศหนาวจัด มีลานหินรูปร่างแปลกตา เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติอย่างแท้จริง ความสวยงามของภูคิ้ง มีผู้เปรียบเปรยไว้ว่า "สี่ภูกระดึง ยังไม่เท่าหนึ่งภูคิ้ง" แต่การเข้าไปเที่ยวชม จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวก่อน

สวนรุกชาติ 100 ปีกรมป่าไม้ (ภูกุ้มข้าว)ตั้งอยู่บ้านโนนมะค่าง หมู่ 5 ตำบลกุดเลาะ มีลักษณะคล้ายคุ้มข้าว หรือกองข้าวขนาดใหญ่ หรืออาจมองดูคล้ายภูเขาไฟขนาดย่อม มีพระธาตุไม้เก่าแก่ และพระพุทธรูปอยู่บนยอดเขา เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม และศูนย์รวมแห่งความสามัคคีของคนในตำบลกุดเลาะ และชาวเกษตรสมบูรณ์ทั่วไป ทุกปีในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 5 จะมีการทำบุญประเพณีที่เรียกว่า “เอาบุญกุ้มข้าว” เป็นประจำ

ภูกระแตตั้งอยู่ระหว่างภูแลนคาและภูเขียว ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านเดื่อ ตำบลโนนกอกตำบลบ้านบัว และตำบลหนองข่า เป็นภูเขาเตี้ย ๆ และเป็นต้นกำเนิดของห้วยหามแห และห้วยกุดแซะ เป็นแนวกันชนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขียว มีเนื้อที่ประมาณ 6,700 ไร่ บนเชิงเขาจะมีถ้ำพระมีงานบุญประเพณี “งานสรงน้ำพระภูกระแต” ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นประจำทุกปี

น้ำตกทับแข้ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหินลับ หมู่ 11 ตำบลหนองโพนงาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 36 ก.ม.เส้นทางสะดวกทั้งปี มีลักษณะเป็นน้ำตกชั้นเดียว มีน้ำไหลตลอดทั้งปี น้ำไหลมาจากลำห้วยทิก ซึ่งเป็นห้วยสาขาของลำน้ำพรม บริเวณชั้นล่างของน้ำตก เป็นอ่างกว้างขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร เป็นที่ลงเล่นน้ำของนักท่องเที่ยว หรืออาจนั่งชมทิวทัศน์ที่ร่มรื่น น้ำตกจะมีน้ำมากในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม

เขื่อนชลประทานโนนเขวา – หาดน้ำพรมตั้งอยู่บ้านโนนเขวา ตำบลโนนทอง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร มีทิวทัศน์สวยงาม มีจุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งบริการล่องแพแลคิ้ง สามารถล่องชมบรรยากาศสองฝั่งลำน้ำพรมไปถึง บ้านโนนหนองไฮซึ่งเป็นทางขึ้นภูคิ้งและ Homestay ได้

เขื่อนห้วยกุ่มเป็นเขื่อนที่ใช้น้ำในการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ที่มีทิวทัศน์สวยงามร่มรื่นอากาศเย็นสบาย และจุดพักรับประทานอาหารและชมวิวตั้งอยู่บ้านห้วยหินลับ ต.หนองโพนงาม ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 32 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที

อำเภอ
ประวัติศาสตร์
ภูมิศาสตร์
เศรษฐกิจ
คมนาคม
สังคม
การศึกษา
วัฒนธรรม
กีฬา
การเมือง
บทความเกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศไทยนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย