ประวัติ ของ อำเภอเขาฉกรรจ์

เขาฉกรรจ์ มีความเชื่อจากชาวบ้านที่ถ่ายทอดสืบกันว่า เขาฉกรรจ์แห่งนี้ เป็นจุดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยที่ทรงเป็นพระยาวชิรปราการ ได้ทรงรวบรวมคนไทยจากชุมนุมต่างๆ เพื่อกอบกู้เอกราชตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้ทรงกระทำพิธี ฉอ-กัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นพิธีตัดไม้ข่มนามที่สำคัญ โดยพระผู้มีพลังจิตสูงเป็นผู้ทำพิธีให้ โดยการเพ่งกสิณเพื่อเรียกจิตภูติของชุมนุมต่างๆ ที่สำคัญทั้ง 5 ชุมนุม มาประชุมกันแล้วทรงกำหราบจิตภูติของชุมนุมทั้ง 5 พร้อมทั้งทำพิธีตัดไม้ข่มนาม หลังจากเสด็จพิธีแล้วจึงยกทัพไปตีชุมนุมทั้ง 5 จนสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียว และกอบกู้เอกราชสำเร็จ และจากพิธีดังกล่าวจึงเรียกว่า "เขาฉอ-กัณฑ์" แต่มาเพี้ยนเสียงเป็น "เขาฉกรรจ์" จนทุกวันนี้[1]

พื้นที่เขาฉกรรจ์สมัยก่อน คือตำบลเขาฉกรรจ์ ซึ่งเป็นตำบลขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,082.8 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแบ่งแยกเป็นพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็นทั้งหมด พื้นที่อำเภอวังสมบูรณ์ทั้งหมด และพื้นที่อำเภอเขาฉกรรจ์ทั้งหมด ดังนี้

  • (1) วันที่ 26 ตุลาคม 2519 ตั้งหมู่ที่ 9,8,16,17 ตำบลเขาฉกรรจ์ แยกออกเป็นตำบลวังน้ำเย็น ตั้งหมู่ที่ 5,13,14 ตำบลเขาฉกรรจ์ แยกออกเป็นตำบลตาหลังใน (ตำบลวังน้ำเย็น และตำบลตาหลังใน คือพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็นทั้งหมดในปัจจุบัน) และตั้งหมู่ที่ 12,18,19 ตำบลเขาฉกรรจ์ แยกออกเป็นตำบลวังสมบูรณ์ (ตำบลวังสมบูรณ์ คือพื้นที่อำเภอวังสมบูรณ์ทั้งหมดในปัจจุบัน)[2]
  • (2) วันที่ 30 สิงหาคม 2526 ตั้งหมู่ที่ 4,7,8,10,11,13,14 ตำบลเขาฉกรรจ์ แยกออกเป็นตำบลหนองหว้า[3]
  • (3) วันที่ 23 สิงหาคม 2527 ตั้งหมู่ที่ 1,4,7,8,10,17,18,19 ตำบลเขาฉกรรจ์ แยกออกเป็นตำบลพระเพลิง[4]
  • (4) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 ตั้งหมู่ที่ 1,2,4,5,13,14,15,17,18 ตำบลเขาฉกรรจ์ แยกออกเป็นตำบลเขาสามสิบ[5]

ต่อมาเมื่อชุมชนเขาฉกรรจ์เป็นชุมนุมชุมชนขนาดใหญ่ มีตลาดการค้าที่สะดวกสบาย เศรษฐกิจดี และมีถนนใหญ่ตัดผ่าน ทำให้มีความเจริญเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศจัดตั้ง สุขาภิบาลเขาฉกรรจ์[6] ขึ้นในพื้นที่บางส่วนของตำบลเขาฉกรรจ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2532 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีถัดมา

ท้องที่อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า ทางราชการจึงได้แบ่งพื้นที่ตำบลเขาฉกรรจ์ ตำบลหนองหว้า ตำบลพระเพลิง และตำบลเขาสามสิบ อำเภอเมืองสระแก้ว ออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอเขาฉกรรจ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2537 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[7] และโอนพื้นที่สุขาภิบาลเขาฉกรรจ์ มาอยู่ในเขตกิ่งอำเภอเขาฉกรรจ์อีกด้วย

ชุมชนบริเวณสุขาภิบาลเขาฉกรรจ์นั้น มีความเจริญอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทยจึงให้ใช้พระราชกฤษฎีกา ให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับในเขตสุขาภิบาลเขาฉกรรจ์ เนื่องจากมีการขยายตัวทั้งในด้านการก่อสร้างอาคารและการผังเมือง[8]

และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเขาฉกรรจ์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2540 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ปีเดียวกัน[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอเขาฉกรรจ์ //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2519/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2526/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2527/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2533/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2536/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/... https://www.thaitambon.com/tambon/270701