สภาพทั่วไป ของ อำเภอเชียงของ

ลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ราบ สลับกับเทือกเขา มีพื้นที่ด้านทิศตะวันออกบางส่วนติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายเชื้อชาติ เช่น ไตลื้อ ขมุ ชาวมูเซอ แม้ว เย้า โดยกลุ่มไทลื้อโดยมากจะอาศัยอยู่ที่ บ้านห้วยเม็ง และบ้านศรีดอนชัย อพยพมาจากทาง สิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบันยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เคยทำสวนส้มกันจนมีชื่อเสียงโด่งดังแต่ปัจจุบันด้วยโรคภัยเยอะชาวบ้านเลยเลิกทำสวนส้มไปหลายราย หันไปทำไร่ข้าวโพดเหมือนกับชาวบ้านใกล้เคียงแทน เชื้อชาติขมุตั้งอยู่ที่บ้านห้วยกอกเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่มีประชากรไม่มากนัก ประชากรในอำเภอเชียงของโดยส่วนมากทำอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ไร่ข้าวโพด สวนส้ม สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ และพืชผักต่างๆเป็นต้น

มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น น้ำตกห้วยเม็งซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในหุบเขาพื้นที่บ้านห้วยเม็งสามารถเดินทางไปได้โดยออกจากตัวอำเภอเชียงของมุ่งหน้าไปทางอำเภอเชียงแสนจากตัวอำเภอระยะทาง 3 กิโลเมตรจะถึงหมู่บ้านห้วยเม็ง เลี้ยวซ้ายเข้าไปผ่านหมู่บ้าน ระยะทางอีกประมาณ 6 กิโลเมตร สภาพเส้นทางเป็นลูกลัง โดยผ่านตามแนวเขาไปยังน้ำตก เหมาะแก่การเดินเท้าสัมผัสธรรมชาติ และปั่นจักรยาน สำหรับรถยนต์ต้องเป็นรถกระบะถึงสามารถเข้าไปยังน้ำตกห้วยเม็งได้ โดยตัวน้ำตกจะมี 2 ฝั่งคือฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเป็นน้ำตกขนาดเล็ก ช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวคือปลายฝนต้นหนาว

จากตัวอำเภอเชียงของมุ่งหน้าไปทาง อ.เชียงแสน ประมาณ 13 กิโลเมตร จะถึงที่ตั้งของสวนป่าห้วยทรายมาน มีจุดชมวิว 2 ฝั่งของระหว่างไทย - ลาวได้พื้นที่ติดน้ำโขงบริเวณตัวอำเภอเชียงของจะมีการสร้างถนนเรียบน้ำโขงเริ่มตั้งแต่บ้านหาดไคร้ไปถึงบ้านหัวเวียงนักท่องเที่ยวสามารถแวะชมบรรยากาศริมโขงได้ ท่าจับปลาบึกทุกวันที่ 17-19 เมษายน บริเวณท่าจับปลาบึก (ลานหน้าวัดหาดไคร้) จะมีการบวงสรวงและจับปลาบึกซึ่งหาดูได้ที่เดียวในโลก ปัจจุบันการล่าปลาบึกจะล่าได้ปีละครั้งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเพื่อเป็นการอนุรักษ์ปลาบึก การล่าจึงทำเพื่อเป็นการสืบทอดการล่าปลาบึกให้คงอยู่ตามประเพณีของชาวบ้านหาดไคร้ และช่วงสงกรานต์บริเวณท่าปลาบึก(ลานหน้าวัดหาดไคร้)และท่าเรือบั๊กจะจัดงานมหาสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มีมากมาย เช่น กล้วยอบเนยศรีลานนา ผ้าทอศรีดอนชัยที่มีการสืบทอดมาแต่โบราณจากบรรพบุรุษของชนชาวไตลื้อสามารถแวะชมได้ที่และศูนย์ผ้าทอไทลื้อตำบลศรีดอนชัย และสินค้าหัตถกรรมบ้านสถาน ศูนย์หัตถกรรมบ้านสถาน

ในทุกปีช่วงเดือนเมษายน บริเวณแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของชาวบ้านจะลงไปเก็บไก (สาหร่ายน้ำจืดที่เกิดในแม่น้ำโขง เป็นชื่อเรียกของคนในพื้นที่) โดยจะนำมาตากแห้งบนคา (ชนิดเดียวกับที่ใช้มุงหลังคา) โดยอาจจะมีใส่เครื่องปรุงเช่น งา ข่า ตะไคร้ ต่าง ๆ ลงไป สามารถนำมาทอดกิน รสชาติหวาน กรอบ ปัจจุบันนำมาจัดเป็นสินค้าโอทอป

ปัจจุบัน อำเภอเชียงของเป็นอำเภอที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเริ่มให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น สิ่งก่อสร้างที่พักอาศัยเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณบ้านหัวเวียง จะมีที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยนักท่องเที่ยวที่มายังอำเภอเชียงของสามารถข้ามไปยัง เมืองห้วยทรายได้ที่ท่าเรือบ้านหัวเวียง สามารถทำหนังสือเดินทางชั่วคราวเพื่อข้ามไปท่องเที่ยวได้และสามารถใช้พาสปอร์ตข้ามได้เช่นกัน นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือจากท่าเรือบ้านหัวเวียงล่องน้ำโขงไปยังเมืองหลวงพระบางได้ ทุกๆเย็นวันเสาร์จะมีการจัดงานถนนคนเดินที่ชาวบ้านในพื้นที่จะนำพืชผล ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมา มาจำหน่ายกันยังบริเวณถนนสายหลักตั้งแต่บ้านวัดแก้วไปจนถึงบ้านหัวเวียง นักท่องเที่ยวสามารหาซื้อของฝากที่ผลิตในท้องถิ่นได้ในวันดังกล่าว

การเดินทางมายังอำเภอเชียงของ สามารถใช้เส้นทางจากทาง อ.เทิง-อ.ขุนตาล-อ.เชียงของ ,อ.เมืองเชียงราย-อ.พญาเม็งราย-อ.เชียงของ ,อ.เมืองเชียงราย-อ.เวียงเชียงรุ้ง-อ.เชียงของ , อ.เมืองเชียงราย-อ.แม่จัน-อ.เชียงแสน-อ.เชียงของ โดยจะมีรถเมล์วิ่งผ่านทุกเส้นทางยกเว้นเส้นทางจาก อ.เมืองเชียงราย-อ.แม่จัน-อ.เชียงแสน-อ.เชียงของ จะมีเพียงรถสองแถววิ่งผ่านเท่านั้น โดยรถเมล์จะออกจากสถานีขนส่งเชียงราย สลับกันแต่ละเส้นทาง

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอเชียงของ //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.dla.go.th/upload/schemaID%5B14%5D/367_n... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2471/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2523/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2525/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/D/...