ประวัติ ของ อำเภอเทิง

เมืองเทิงหรือเวียงเทิงเป็นเมืองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินเขาคลุมทั้งสองฟากน้ำแม่อิง ควบคุมเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในลุ่มน้ำอิง ภายในเขตเมืองทั้งสองฝั่งแม่น้ำมีซากวัดวาอาราม เศษภาชนะดินเผาเคลือบและไม่เคลือบอยู่ทั่วไป นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปและชิ้นส่วนพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาตามที่ต่าง ๆ ทั่วไป อำเภอเทิงมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เริ่มมีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยขุนเจื๋อง ราชโอรสขุนจอมธรรม ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว (จังหวัดพะเยาในปัจจุบัน) ประมาณ จ.ศ. 482 (พ.ศ. 1663) เป็นหัวเมืองที่สำคัญของเมืองภูกามยาว โดยเมืองเทิงอยู่ในความปกครองของราชวงศ์มังรายราวพุทธศตวรรษที่ 20-21

ต่อมาการปกครองได้แตกสาขาแยกเมืองออกปกครองมากขึ้น เมืองเทิงจัดอยู่ในเขตปกครองของบริเวณนครน่าน ตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2438) เรียกว่า กิ่งแขวงเมืองเทิง เป็นหัวเมืองของบริเวณน่านเหนือ (หัวเมืองชั้นนอกที่อยู่ห่างไกลเรียกว่า "บริเวณ" มีข้าหลวงบริเวณดูแล) กิ่งแขวงเมืองเทิงได้จัดแบ่งหมู่บ้านต่าง ๆ เป็น 14 แคว้น เช่น แคว้นเวียงเทิง มีเจ้าหลวงเทิง (ไชยสาร) เป็นบุตรของเจ้าพรหมสุรธาดาแห่งนันทบุรีศรีนครน่านเป็นเจ้าหลวงเมืองเทิงองค์สุดท้าย แคว้นบ้านหงาว แคว้นตับเต่า แคว้นน้ำแพร่ แคว้นบ้านเอียน และแคว้นบ้านงิ้ว ในพ.ศ. 2442 กระทรวงมหาดไทยจึงให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิริยศิริ) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลอง ขึ้นมาจัดวางระเบียบการปกครองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ อันเนื่องแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 แล้วนั้น และเพื่อที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ตราข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นใช้ในปีต่อไป ปีนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้มาที่จังหวัดน่าน พร้อมด้วยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ครั้งนั้นยังเป็นเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดช) เจ้าผู้ครองนคร พระยาสุนทรนุรักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ข้าหลวงประจำเมืองและเจ้านายท้าวพญาทั้งปวงประชุมปรึกษาตกลงวางระเบียบราชการขึ้นใหม่ การปกครองท้องที่ใหม่ ได้แบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็น 8 แขวง แขวงน้ำอิงคือหนึ่งในแขวงทั้ง ๘ คือรวม เมืองเทิง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงแลง เมืองงาว เมืองเชียงของ เมืองเชียงเคี่ยน เมืองลอ เมืองมิน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเทิง ในปี พ.ศ. 2457 แต่ต่อมาได้แยกการปกครองจากจังหวัดน่านมาขึ้นตรงต่อจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2475 แบ่งการปกครองออกเป็น 10 ตำบล

อำเภอเทิง หมายถึงอำเภออยู่บนที่ราบสูง มีน้ำแม่อิงไหลจากจังหวัดพะเยา ผ่านอำเภอเทิงไปลงแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จากลุ่มน้ำแม่อิงนี้เอง แสดงว่ายุคโบราณดึกดำบรรพ์ บ้านเมืองที่อยู่ลุ่มน้ำแม่อิงย่อมเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ แล้วมีลักษณะสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน เทิง ในชื่ออำเภอเทิง หมายถึงบริเวณที่สูง เห็นได้จากแผ่นดินบริเวณนั้นยกตัวขึ้นสูงกว่าบริเวณอื่น ดูได้จากถนนที่ไปจากจังหวัดพะเยา เมื่อจะเข้าอำเภอเทิง ถนนจะค่อยๆ ลาดสูงขึ้น บริเวณอำเภอเทิงเป็นเขตที่สูง มีคนอยู่อาศัยร่วมสมัยกับเมืองพะเยา, เมืองเชียงราย ตั้งแต่ยุคก่อนรับพุทธศาสนา หรือก่อน พ.ศ. 1700 แล้วเติบโตเรื่อยมาจนรับพุทธศาสนา ถึงมีคูน้ำคันดินเป็นบ้านเมืองลุ่มน้ำอิง แล้วมีฝีมือชำนาญทำพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมากมายทั้งลุ่มน้ำอิง

กล่าวถึงเมืองเทิง(เมืองเติง) เมืองทเลิง(เมืองต๊ะเลิง) เมืองเธิง(เมืองเทิง) เมืองเซิง หรือเมืองเชิง เมื่อตะก่อน(แต่ก่อน)เมืองเทิงเป็นเมืองที่มีอำนาจเฉพาะ เจ้าเมืองเทิงองค์สุดท้ายคือเจ้าหลวงเทิง (ไชยสาร) เป็นบุตรของเจ้าพรหมสุรธาดา หรือเจ้าฟ้าอัทธวรปัญโญ ต่อมาเป็นเจ้าเมืองน่านเพราะไปสวามิภักดิ์ ร.1 แห่งกรุงสยาม เมืองเทิงจึงถูกรวมกับเมืองน่าน จนถึงในสมัยร.5 แห่งสยามได้แยกไปรวมกับเมืองแถวๆนั้นเป็นน่านเหนือต่อมาแยกเป็นจังหวัด (น่าจะอยู่ในอำเภอพะเยา) แต่มาเมื่อแยกพะเยาออกจากจังหวัดเชียงราย ชื่อเมืองเทิงก็ติดไปทางเชียงรายจนกลายเป็นอำเภอหนึ่งไป

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่พระองค์เสด็จมาแล้วประทานพระเกศาธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในพระธาตุจอมจ้อ และทำนายว่าต่อไปนี้จะมีเมืองชื่อเมืองเทิง อันหมายถึงการมาถึงของพระพุทธองค์ ที่เมืองเทิงเป็นแหล่งที่ค้นพบพระพุทธรูปหินทราย อันเป็นฝีมือช่างสกุลพะเยา อันแสดงถึงว่าในอดีตถูกครอบงำทางศิลปวัฒนธรรมจากเมืองภูกามยาว เมืองเทิงเป็นเมืองน้อยแต่กำลังคนมากเมืองเทิงจึงถือเป็นเมืองที่มีฐานะเป็นเมืองโทนคือไม่ใช่เมืองขึ้น หมายถึงขึ้นโดยตรงต่อเมืองเชียงใหม่ (ขอยกตัวอย่างเมืองขึ้น เช่นเมืองวังเหนือ/ปัจจุบันอยู่บริเวณจังหวัดลำปาง เมืองวังเหนือขึ้นต่อเมืองเชียงราย ดังนั้นเมืองโทนคือเมืองเชียงราย)เช่นเดียวกัน เมืองเทิงก็เหมือนเมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองละคอน เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน คือเป็นเมืองโทน อาณาเขตเมืองเทิงนั้นในปัจจุบันถูกแบ่งเขตเป็นอำเภออีก 2 อำเภอ คือ อำเภอเทิง แบ่งไปเป็นอำเภอขุนตาล(ส่วนหนึ่งทางทิศใต้และตะวันตก) และ(กิ่ง)อำเภอพญามังรายทั้งหมด

เมืองเทิงก่อนหน้านั้นสำคัญมากเพราะสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองน่าน หรือเป็นลูกหลานเจ้าเมืองน่านมาปกครองหัวเมืองเทิง ทำให้ประวัติ ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม และการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นการกบฏเงี้ยว หรือกับพม่า แต่มีหลักฐานสำคัญคือบรรดาลูกหลานที่สืบสกุลมาจากเจ้าเมืองเหล่านั้นต่างนับถึอกันเป็นญาติกันมาอย่างเหนียวแน่น ดังต่อไปนี้ นามสกุล ณ น่าน กิติลือ มหาวงศ์นันท์ มหาวงศ์ วงศ์วุฒิ ต้นคำ(ต้นคำไม่พบแล้ว) วุฒิพรม ซึ่งจะสังเกตได้จากผู้หลักผู้ใหญ่ในอำเภอเทิงส่วนมากก็มาจากสกุลนี้ และจะไปอยู่ในตำบล รอบนอกที่เป็นแว้นแคว้นในสมัยก่อนก็มี ปู่ย่าตาทวด ของนามสกุลเหล่านี้ ชาวบ้านอำเภอเทิงส่วนมากจะเรียกคำนำหน้านามว่า พ่อนายแม่นาย อันหมายถึงลูกหลานเจ้าเมืองเมื่อก่อน ซึ่งต้องเทียบเคียงกับเอกสารกับทางเมืองน่าน หรือพงศาวดารเมืองน่าน เพราะว่าเป็นเหตุการก่อนที่เมืองน่านที่เป็นรัฐอิสระ จะสวามิภักดิ์ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นเมืองเทิงตอนนั้นจึงถึอว่าเป็นเมืองสำคัญของเมืองน่าน