ประวัติ ของ อำเภอเมืองบุรีรัมย์

ที่ว่าการอำเภอเมืองบุรีรัมย์

บุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนในท้องถิ่นและเป็นเมืองที่น่ามาเยือนสำหรับคนต่างถิ่น เมืองปราสาทหินในเขตจังหวัดบุรีรัมย์มากมีไปด้วย ปราสาทหินใหญ่น้อย อันหมายถึงความรุ่งเรืองมาแต่อดีต จากการศึกษาของนักโบราณคดีพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทราวดีและที่สำคัญที่สุดพบกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดบุรีรัมย์มากคือ หลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐ และปราสาทหินเป็นจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือเตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่าเครื่องถ้วยเขมร ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไปหลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณ แล้วหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาและปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่าบุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้ชื่อเป็นจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบันนี้ชื่อเมืองบุรีรัมย์ ไม่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและธนบุรีเฉพาะชื่อเมืองอื่น ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เมืองนางรอง เมืองพุทไธสง และเมืองประโคนชัย พ.ศ. 2319

รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี กรมการเมืองนครราชสีมา มีใบยอกเข้ามาว่า พระยานางรองคบคิดเป็น กบฏร่วมกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงคำแหน่ง เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปปราบจับตัวพระยานางรองประหารชีวิตและสมทบเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือยกไปตีเมือง จำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตปือ ได้ทั้ง 3 เมือง ประหารชีวิต เจ้าโอ เจ้าอิน อุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆ ใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุบ สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ รวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้นในเขตขอมร้า เรียกว่า เมืองแปะ แต่งตั้งบุรีรัมย์บุตรเจ้าเมืองผไทสมัน (พุทไธสง) ให้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยานครภักดี ประมาณปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือต้นราชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะเป็นบุรีรัมย์ด้วยปรากฏว่า ได้มีการแต่งตั้งพระสำแดงฤทธิรงค์เป็นพระนครภักดีศรีนครา ผู้สำเร็จราชการเมืองบุรีรัมย์ ขึ้นเมืองนครราชสีมาใน พ.ศ. 2411 เมืองบุรีรัมย์และเมืองนางรองผลัดกันมีความสำคัญเรื่อยมา พ.ศ. 2433 เมืองบุรีรัมย์โอนขึ้นไปขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีหนองคายเป็นศูนย์กลาง และเมืองบุรีรัมย์มีเมืองในสังกัด 1 แห่ง คือเมืองนางรอง

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2440-2441 เมืองบุรีรัมย์ได้กลับไปขึ้นกับมณฑลนครราชสีมาเรียกว่า"บริเวณนางรอง" ประกอบด้วย เมืองบุรีรัมย์ นางรอง รัตนบุรี ประโคนชัย และพุทไธสง พ.ศ. 2442 มีประกาศเปลี่ยนชื่อ มณฑลลาวเฉียงเป็น มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลลาวเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ มณฑลเขมร เป็นมณฑลตะวันออกและในคราวนี้เปลี่ยนชื่อ บริเวณนางรองเป็น "เมืองนางรอง"มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ตั้งที่ว่าการอยู่ที่เมืองบุรีรัมย์ แต่ตราตำแหน่งเป็นตราผู้ว่าการนางรอง กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "บุรีรัมย์" และเปลี่ยนตราตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2444 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2450 กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มณฑลนครราชสีมาประกอบด้วย 3 เมือง 17 อำเภอ คือเมืองนครราชสีมา 10 อำเภอ เมืองชัยภูมิ 3 อำเภอ และเมืองบุรีรัมย์ 4 อำเภอ คือ นางรอง พุทไธสง ประโคนชัย รัตนบุรี และต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ขึ้น ยุบมณฑลนครราชสีมา จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ เมืองบุรีรัมย์จึงมีฐานะเป็น จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[1]

  • วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2478 แยกพื้นที่ตำบลทะเมนชัย ตำบลตลาดโพธิ์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และตำบลยางลาว (ตำบลโคกกลางในปัจจุบัน) อำเภอนางรอง มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอลำปลายมาศ ขึ้นกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์[2][3]
  • วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2479 จัดตั้งเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ในท้องที่บางส่วนของตำบลในเมือง[4]
  • วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2481 ตั้งตำบลสตึก แยกออกจากตำบลดงพลอง ตั้งตำบลทุ่งวัง แยกออกจากตำบลดงพลอง ตั้งตำบลปะเคียบ แยกออกจากตำบลพระครู ตั้งตำบลร่อนทอง แยกออกจากตำบลปราสาท และตั้งตำบลหนองใหญ่ แยกออกจากตำบลปราสาท[5]
  • วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2481 แยกพื้นที่ตำบลสตึก ตำบลทุ่งวัง ตำบลปะเคียบ ตำบลร่อนทอง ตำบลหนองใหญ่ และตำบลดงพลอง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอสตึก ขึ้นกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์[6]
  • วันที่ 3 เมษายน 2482 ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ (1,2,3,4,5,6,7,8,9,10,11,12)[7]
    • (1) ตั้งตำบลสะแกโพรง แยกออกจากตำบลบ้านบัว
    • (2) ตั้งตำบลเสม็ด แยกออกจากตำบลบ้านบัว ตำบลในเมือง และตำบลสวายจีก
    • (3) ตั้งตำบลกระสัง แยกออกจากตำบลสองชั้น และตำบลห้วยราช
    • (4) ตั้งตำบลลำดวน แยกออกจากตำบลห้วยราช
    • (5) ตั้งตำบลสามแวง แยกออกจากตำบลห้วยราช และตำบลบ้านยาง
    • (6) โอนพื้นที่หมู่ 19,20 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวายจีก ไปขึ้นกับตำบลสองชั้น
    • (7) โอนพื้นที่หมู่ 1,7,18,19 (ในขณะนั้น) ของตำบลในเมือง ไปขึ้นกับตำบลบ้านบัว
    • (8) โอนพื้นที่หมู่ 13 (ในขณะนั้น) ของตำบลในเมือง และพื้นที่หมู่ 14 ของตำบลปราสาท ไปขึ้นกับตำบลบ้านยาง
    • (9) โอนพื้นที่หมู่ 1,5,23 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวายจีก และพื้นที่หมู่ 8,9 ของตำบลบ้านยาง ไปขึ้นกับตำบลห้วยราช
    • (10) โอนพื้นที่หมู่ 1,22,24 (ในขณะนั้น) ของตำบลพระครู ไปขึ้นกับตำบลดงพลอง กิ่งอำเภอสตึก อำเภอเมืองบุรีรัมย์
    • (11) โอนพื้นที่หมู่ 19 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านบัว ไปขึ้นกับตำบลทะเมนชัย กิ่งอำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์
    • (12) ตั้งตำบลลำปลายมาศ แยกออกจากตำบลทะเมนชัย
  • วันที่ 30 กรกฎาคม 2483 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลยางลาว กิ่งอำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น ตำบลโคกกลาง[8]
  • วันที่ 21 ตุลาคม 2490 ยกฐานะกิ่งอำเภอลำปลายมาศ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และกิ่งอำเภอสตึก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอลำปลายมาศ และ อำเภอสตึก[9]
  • วันที่ 24 พฤษภาคม 2492 ตั้งตำบลถลุงเหล็ก แยกออกจากตำบลพระครู ตั้งตำบลบ้านด่าน แยกออกจากตำบลปราสาท[10]
  • วันที่ 1 มิถุนายน 2497 แยกพื้นที่ตำบลกระสัง ตำบลลำดวน และตำบลสองชั้น อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอกระสัง ขึ้นกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์[11]
  • วันที่ 28 พฤศจิกายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลกระสัง ในท้องที่บางส่วนของตำบลกระสัง[12]
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2500 ตั้งตำบลเมืองไผ่ แยกออกจากตำบลกระสัง ตั้งตำบลชุมแสง แยกออกจากตำบลลำดวน[13]
  • วันที่ 22 กรกฎาคม 2501 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอกระสัง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอกระสัง[14]
  • วันที่ 9 พฤษภาคม 2504 ขยายเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในเมืองทั้งตำบล[15]
  • วันที่ 11 กันยายน 2505 ตั้งตำบลคูเมือง แยกออกจากตำบลพระครู[16]
  • วันที 19 มิถุนายน 2505 จัดตั้งสุขาภิบาลห้วยราช ในท้องที่บางส่วนของตำบลห้วยราช[17]
  • วันที่ 6 พฤศจิกายน 2505 โอนพื้นที่หมู่ 14 (ในขณะนั้น) ของตำบลพระครู ไปตั้งเป็นหมู่ 10 ของตำบลคูเมือง[18]
  • วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2506 ตั้งตำบลตูมใหญ่ แยกออกจากตำบลถลุงเหล็ก[19]
  • วันที่ 20 เมษายน 2508 ตั้งตำบลหนองตาด แยกออกจากตำบลบ้านบัว และตำบลอิสาณ[20]
  • วันที่ 19 กรกฎาคม 2509 จัดตั้งสุขาภิบาลหินเหล็กไฟ ในท้องที่บางส่วนของตำบลตูมใหญ่[21]
  • วันที่ 25 มิถุนายน 2511 โอนพื้นที่ตำบลปะเคียบ อำเภอสตึก ไปขึ้นกับ อำเภอเมืองบุรีรัมย์[22]
  • วันที่ 11 พฤศจิกายน 2512 แยกพื้นที่ตำบลคูเมือง ตำบลปะเคียบ และตำบลตูมใหญ่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอคูเมือง ขึ้นกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์[23]
  • วันที่ 19 ตุลาคม 2514 ตั้งตำบลบ้านแพ แยกออกจากตำบลปะเคียบ ตั้งตำบลหินเหล็กไฟ แยกออกจากตำบลตูมใหญ่ ตั้งตำบลพรสำราญ แยกออกจากตำบลคูเมือง[24]
  • วันที่ 8 สิงหาคม 2515 ตั้งตำบลโนนขวาง แยกออกจากตำบลบ้านด่าน[25]
  • วันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอคูเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอคูเมือง[26]
  • วันที่ 20 พฤศจิกายน 2522 ตั้งตำบลตาเสา แยกออกจากตำบลสามแวง ตั้งตำบลลุมปุ๊ก แยกออกจากตำบลบ้านบัว ตั้งตำบลสองห้อง แยกออกจากตำบลสะแกโพรง[27]
  • วันที่ 23 กันยายน 2523 ตั้งตำบลบัวทอง แยกออกจากตำบลบ้านยาง[28]
  • วันที่ 2 ตุลาคม 2527 ตั้งตำบลชุมเห็ด แยกออกจากตำบลอิสาณ[29]
  • วันที่ 23 ตุลาคม 2527 ตั้งตำบลสนวน แยกออกจากตำบลสวายจีก[30]
  • วันที่ 12 ธันวาคม 2529 ตั้งตำบลหลักเขต แยกออกจากตำบลสวายจีก[31]
  • วันที่ 6 สิงหาคม 2530 ตั้งตำบลวังเหนือ แยกออกจากตำบลปราสาท[32]
  • วันที่ 27 ธันวาคม 2531 ตั้งตำบลบ้านตะโก แยกออกจากตำบลห้วยราช[33]
  • วันที่ 18 ตุลาคม 2532 ตั้งตำบลสะแกซำ แยกออกจากตำบลเสม็ด[34]
  • วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 แยกพื้นที่ตำบลห้วยราช ตำบลสามแวง ตำบลตาเสา ตำบลบ้านตะโก และตำบลสนวน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอห้วยราช ขึ้นกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์[35]
  • วันที่ 7 กันยายน 2533 ตั้งตำบลกลันทา แยกออกจากตำบลถลุงเหล็ก[36]
  • วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลกระสัง แยกออกจากตำบลบ้านบัว[37]
  • วันที่ 13 กันยายน 2534 ตั้งตำบลโคกเหล็ก แยกออกจากตำบลสามแวง[38]
  • วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 กำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตำบลเสม็ด ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[39] ตำบลห้วยราช ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[40] ตำบลบ้านบัว ให้มีเขตการปกครองรวม 27 หมู่บ้าน[41] ตำบลชุมเห็ด ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[42] ตำบลหนองตาด ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[43] ตำบลบ้านด่าน ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[44] ตำบลสะแกโพรง ให้มีเขตการปกครองรวม 19 หมู่บ้าน[45] ตำบลสวายจีก ให้มีเขตการปกครองรวม 16 หมู่บ้าน[46] ตำบลถลุงเหล็ก ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[47] ตำบลบ้านยาง ให้มีเขตการปกครองรวม 16 หมู่บ้าน[48] ตำบลสามแวง ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน[49] ตำบลตาเสา ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[50] ตำบลปราสาท ให้มีเขตการปกครองรวม 15 หมู่บ้าน[51] ตำบลสองห้อง ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[52] ตำบลวังเหนือ ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[53] ตำบลอิสาณ ให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน[54] ตำบลบัวทอง ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[55] ตำบลพระครู ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[56] ตำบลโนนขวาง ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[57] ตำบลลุมปุ๊ก ให้มีเขตการปกครองรวม 12 หมู่บ้าน[58] ตำบลสนวน ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[59] ตำบลหลักเขต ให้มีเขตการปกครองรวม 10 หมู่บ้าน[60] ตำบลบ้านตะโก ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน[61] และตำบลสะแกซำ ให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน[62]
  • วันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ตั้งตำบลเมืองฝาง แยกออกจากตำบลสองห้อง[63]
  • วันที่ 8 สิงหาคม 2538 ยกฐานะกิ่งอำเภอห้วยราช อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอห้วยราช[64]
  • วันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 ตั้งตำบลเมืองโพธิ์ แยกออกจากตำบลตาเสา และตั้งตำบลห้วยราชา แยกออกจากตำบลห้วยราช[65]
  • วันที่ 26 มิถุนายน 2539 แยกพื้นที่ตำบลบ้านด่าน ตำบลปราสาท ตำบลวังเหนือ และตำบลโนนขวาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอบ้านด่าน ขึ้นกับอำเภอเมืองบุรีรัมย์[66]
  • วันที 8 กันยายน 2550 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอบ้านด่าน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เป็น อำเภอบ้านด่าน[67]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอเมืองบุรีรัมย์ //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2492/D/...