พื้นฐานทางสังคม ของ อำเภอเมืองยาง

อำเภอเมืองยาง มีพื้นฐานทางสังคมประกอบด้วยชนพื้นเมือง ผสมผสานกันระหว่างชาวอีสานและชาวโคราช เป็นเขตพื้นที่เชื่อมติดต่อกันระหว่างกลุ่มชนชาวอีสานและชาวโคราชของพื้นที่ภาคอีสาน และมีภาษาถิ่นที่ใช้กันอยู่ทั้งสองภาษา โดยดั้งเดิมกลุ่มชนชาวโคราช ส่วนใหญ่จะมีการอพยพบุกเบิกตั้งถิ่นฐาน มาจากเขตพื้นที่อำเภอพิมาย ในขณะกลุ่มชนชาวอีสานจะเป็นการย้ายมาจากจังหวัดละแวกใกล้เคียง เช่น จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม จ.ขอนแก่น จ.บุรีรัมย์ โดยชาวโคราชส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นการอพยพบุกเบิกเข้ามาก่อนหรือเป็นกลุ่มชนดั้งเดิม จึงได้เลือกทำเลที่สำคัญ เหมาะสมสำหรับการตั้งชุมชน คือ แม่น้ำมูล ลำสะแทด ทำให้หมู่บ้านที่อยู่ในละแวกพื้นที่ดังกล่าวมักเป็นชุมชนหมู่บ้านชาวโคราช เช่น บ้านครบุรี บ้านกระเบื้องนอก ในขณะที่ชาวอีสานซึ่งเป็นการอพยพ ขยายการตั้งถิ่นฐานมาทีหลัง จึงได้ยึดพื้นที่ตามทำเลที่เหมาะสมอื่น เช่น หนองน้ำ สระน้ำ โคกเนิน เช่น บ้านเมืองยาง บ้านเมืองเก่า ในช่วงต่อๆมาก็มีการขยายการตั้งถิ่นฐานไปเรื่อยๆ กระจัดกระจายกันไป และมีการผสมผสานกันทางเครือญาติ ทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ทำให้พื้นฐานทางสังคมในด้านชุมชนพื้นเมืองเป็นแบบผสม[4]