ประวัติศาสตร์ ของ อำเภอเวียงป่าเป้า

อำเภอเวียงป่าเป้า เป็นเมืองเก่าแก่ อายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ เป็นผู้ก่อตั้งโดยมอบหมายให้พญาไชยวงค์ นำราษฎรชาวเชียงใหม่ขึ้นมาถางป่าอ้อหญ้าไซ ซึ่งอยู่ห่างตัวอำเภอไปทางใต้ แล้วสร้างเมืองชื่อว่า "เมืองเฟยไฮ" และพญาไชยวงค์ (ต้นตระกูล "บุญชัยวงศ์") เป็นเจ้าเมือง

ต่อมาปี พ.ศ. 2430 พญาไชยวงค์เห็นว่าเมืองเฟยไฮเป็นที่ราบลุ่ม พอเข้าฤดูฝน น้ำจะท่วมประจำทุกปี จึงให้ราษฎรขึ้นมาถางป่าไม้ที่มีไม้เป้า (เป้าน้อย เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง) ตั้งขึ้นเป็นเมืองชั่วคราว ในปี พ.ศ. 2440 พญาไชยวงค์อนิจกรรม พญาเทพณรงค์ (ต้นตระกูล "ทาอุปรงค์") ซึ่งเป็นลูกเขย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองป่าเป้าสืบแทน พญาเทพณรงค์ได้ใช้อิฐก่อเป็นกำแพงเมือง (ปัจจุบันจะเห็นร่องรอยบริเวณวัดป่าม่วง - วัดศรีคำเวียง) และตั้งชื่อเมืองว่า "เวียงป่าเป้า" ต่อมาพญาเทพณรงค์ อนิจกรรม พญาขันธเสมาบดี (ต้นตระกูล "ธนะชัยขันธ์") ซึ่งเป็นน้องเขย ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองสืบแทน

เมืองเวียงป่าเป้าขึ้นกับอำเภอแม่พริก (บ้านแม่พริก อำเภอแม่สรวย ในปัจจุบัน) ต่อมาอำเภอแม่พริกได้ย้ายมาอยู่ริมน้ำแม่สรวย และขนานนามใหม่ว่าอำเภอแม่สรวย

อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นอำเภอหนึ่งซึ่งอยู่ทิศใต้ของจังหวัดเชียงราย จากทั้งหมด 16 อำเภอ 2 กิ่ง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 90 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวก ด้วยถนนลาดยาง ทางหลวงหมายเลข 118 ระยะทาง 180 กิโลเมตร จากจังหวัดเชียงราย – จังหวัดเชียงใหม่ และทางหลวงหมายเลข 1035 จากเขตเทศบาลแม่ขะจานไปยังอำเภอวังเหนือ ถึงจังหวัดลำปาง ยาวประมาณ 120 กม. และทางหลวงหมายเลข 1150 จากตำบลบ้านโป่งเทวีไปยังอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ยาวประมาณ 53 กม.ลักษณะที่ตั้งของอำเภอเป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีแม่น้ำไหลผ่านจากภูเขาผีปันน้ำ (ดอยนางแก้ว) เรียกน้ำแม่ลาว ไหลลงสู่น้ำแม่กก โดยผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ลาว อำเภอเมือง และอำเภอเวียงชัย ตามแผนที่สากลจะอยู่ประมาณ ละติจูดที่ 15 – 19 องศาเหนือ ลองติจูดที่ 99 องศาตะวันออก สูงกว่าระดับน้ำทะเล 547 เมตร พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,217 ตร.กม. หรือ 765,625 ไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 205,353 ไร่พื้นที่ป่าไม้ 560,272 ไร่

อำเภอเวียงป่าเป้า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและมีภูเขาล้อมรอบ มีพื้นที่ราบเป็นรูปแอ่งกระทะพอประมาณ มีความกว้าง ประมาณ 27 กม.ความยาว 41 กม.มีภูเขาผีปันน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เป็นต้นกำหนดของน้ำแม่ลาว, น้ำแม่ฉางข้าว, น้ำแม่ปูน, น้ำแม่โถ และน้ำแม่เจดีย์ พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ด้านทิศตะวันตก และป่าสงวนแห่งชาติแม่ปูนน้อย อยู่ทางทิศตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 560,271 ไร่ แหล่งแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แร่ดีบุก (cassiterite) แร่ชีไลต์ (scheelite) บริเวณดอยหมอก เป็นแหล่งแร่ซีไลท์ที่มีปริมาณสำรองมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 30,000 เมตริกตัน แต่บริษัทผู้สัมปทานขาดงบประมาณในการเจาะขุด ส่วนแร่ดินขาว (kaolinite) พบที่ตำบลบ้านโป่งเทวี ปัจจุบันได้มีบริษัท เบญจอุตสาหกรรมมาตั้งโรงงานซึ่งทำเป็นเมืองหาบ ดินขาวใช้ทำอิฐก่อสร้าง เครื่องปั้นดินเผา, กระเบื้องเคลือบ และได้ส่งเป็นวัตถุดิบไปยังโรงงานกระเบื้องเซรามิก ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

อำเภอเวียงป่าเป้าได้รับการตั้งเป็นเขตการปกครองครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2430 ในปี พ.ศ. 2475 ขุนบวรอุทัยวัช ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายอำเภอเวียงป่าเป้าได้ทำการก่อสร้าง พอสร้างได้เพียงครึ่งหนึ่ง ขุนบวรอุทัยธวัชก็ประสบอุบัติเหตุตกม้าถึงแกชีวิต ขุนพิพิธสุขอำนวย นายอำเภอคนต่อมา ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อ การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยขุนสมจิตสมบัติศิริ ตัวอาคารเป็นลักษณะทรงยุโรปผสมรัตนโกสิน ซึ่งเป็นอาคารตึกก่ออิฐถือปูน เป็นสถาปัตยกรรมที่หาดูได้ยากยิ่ง

การเสนอโครงการจัดตั้งกิ่งอำเภอ

แผนที่จังหวัดเชียงราย แสดงพื้นที่ซึ่งเคยมีการเสนอให้มีการจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้น ดังนี้ 1. กิ่งอำเภอแม่ขะจาน 2. กิ่งอำเภอวาวี 3. กิ่งอำเภอดอยสัก 4. กิ่งอำเภอปล้อง 5. กิ่งอำเภอแม่อ้อหรือกิ่งอำเภอพัชรกิติยาภา 6. กิ่งอำเภอเรืองนคร

มีการเสนอให้แยกตำบลแม่เจดีย์ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ และตำบลเวียงกาหลง ออกจากอำเภอเวียงป่าเป้าในปี พ.ศ. 2539 เพื่อตั้งเป็น กิ่งอำเภอแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า เนื่องจากแม่ขะจานไกลจากตัวเมืองเวียงป่าเป้าแต่มีความเจริญและประชากรเริ่มหนาแน่นกว่า อย่างไรก็ตาม ชื่อกิ่งอำเภอแม่ขะจานยังปรากฏตามเว็บไซต์ต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการอาจสร้างความสับสนกับผู้อ่านได้[1] [2]