ประวัติ ของ อำเภอเวียงแก่น

ประวัติศาสตร์อำเภอ

ผู้ครองเมืองเวียงแก่นในศตวรรษที่ 17-18 ทรงสร้างบ้านแปงเมืองเวียงแก่นจนรุ่งเรือง เป็นที่นับถือเคารพบูชาของชาวอำเภอเวียงแก่นเป็นอย่างสูง จึงตั้งชื่ออำเภอตามเจ้าหลวงเวียงแก่น

หล่ายดอย คือ ชื่อในอดีตของอำเภอเวียงแก่น อำเภอเวียงแก่น ในอดีตที่ผ่านมาไม่ทราบแน่ชัดว่าชื่อเมืองอะไร แต่ตามหลักฐานตำนานสิงหนวัต ได้กล่าวไว้ว่า เขตเมืองผาแดง (เชียงของ) ทางทิศตะวันออก มีแคว้นตั้งแต่เมืองผาแง (ผาแล) ล่องมาถึงแจ๋มแกด (แจมป๋อง) ซึ่งก็ถือได้ว่า เวียงแก่นในอดีต เป็นเมืองบริวารที่ขึ้นตรงกับเมืองผาแดงมาก่อน มีชุมชนเมืองโบราณที่มีสภาพ ชัดเจนอยู่หลายแห่งพอที่จะศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ได้ เช่น โบราณสถานดงเวียงแก่น ซึ่งเป็นเมืองโบราณมีอายุประมาณ 700 กว่าปีราวยุคสมัยสุโขทัยและเชียงรายยุคต้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 230 ไร่ มีลักษณะการสร้างเมืองเป็นรูปวงรี อยู่บนที่เนินสูง มีกำแพงคูเมืองล้อมรอบ 2 ชั้น คือมีคูด้านนอกกับคูด้านใน คูด้านนอกจะตื้นกว่าคูด้านใน คูด้านในจะลึกประมาณ 10 เมตร รอบตัวเมืองโบราณจะมีการขุดคูล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน คือทางด้านทิศใต้ ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกจะใช้ลำน้ำงาวใช้เป็นคูเมืองแทน เพราะมีร่องน้ำเดิมปรากฏอยู่บริเวณติดกับเขตของตัวเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน และยังมีคูเมืองด้านนอก และด้านในของทางทิศเหนือ และทิศใต้มาเชื่อมต่อร่องน้ำเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ตามตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงสมัยอาณาจักรล้านนา บริเวณอำเภอเวียงแก่นปกครองโดยเจ้าหลวงเวียงแก่น มีชายาชื่อ เจ้านางแว่นเตียม มีโอรส 1 องค์ คือ เจ้าองค์คำ เจ้าหลวงเวียงแก่นปกครองเมือง ไพร่ฟ้า ประชาชน ด้วยความสันโดษ ต่อมาพญามังรายได้รวบรวมอาณาจักรล้านนาให้เป็นปึกแผ่นเพื่อผนึกกำลังไว้ต่อสู้กับกองทัพมองโกล พระองค์จึงได้ยกทัพตีเมืองต่างๆ ในแถบน้ำแม่อิงมาจนถึงเมืองเวียงแก่น เจ้าหลวงเวียงแก่นได้รบกับพญามังราย ด้วยความรักและความหวงแหนแผ่นดินแต่กำลังทหารฝ่ายเจ้าหลวงเวียงแก่นมีน้อยจึงเป็นผู้แพ้ในการศึก ในการต่อสู้ดังกล่าวต่างฝ่ายต่างล้มตายเป็นจำนวนมากทำให้เกิดเลือดไหลนอง เมื่อเจ้าหลวงเวียงแก่นได้เห็นผู้คนล้มตายจำนวนมากมายเช่นนั้นจึงเกิดเป็นลมหมดสติสิ้นในไปการรบ ปัจจุบันเรียกที่แห่งนั้นว่า "ทุ่งคาว" อยู่บริเวณบ้านหล่ายงาวในปัจจุบัน จากนั้นเมืองเวียงแก่นจึงร้างไป

ต่อมา ในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มมีคนอพยพมาตั้งรกรากกันใหม่ ส่วนใหญ่จะมาอยู่เป็นครั้งคราวและจำนวนน้อย และต่อมาในช่วงประมาณรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 จึงมีการอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันอย่างถาวรมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ และมาจากประเทศลาวบางส่วน โดยตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านหลู้ บ้านม่วง บ้านยาย จนมาถึงช่วงประมาณ พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดระบบการเมืองการปกครองใหม่ มีการแบ่งแยก หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ขึ้นอย่างชัดเจน ในส่วนของอำเภอเวียงแก่นสมัยนั้น แบ่งออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลม่วงยายและตำบลปอ ขึ้นอยู่กับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย [1]

ในส่วนของอำเภอเวียงแก่นที่มีเขตตำบลอยู่ในอำเภอเชียงของในขณะนั้น เดิมมีอยู่ 2 ตำบล คือ ตำบลม่วงยายและตำบลปอ ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งตำบลในเขตท้องที่อำเภอเชียงของขึ้นใหม่ อีก 1 แห่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 45 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2525 โดยมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2525 มีเนื้อหาสำคัญคือให้โอนหมู่บ้าน 5 หมู่บ้านจากตำบลม่วงยาย โดยถือกึ่งกลางของแม่น้ำงาวเป็นแนวแบ่งเขต มาจัดตั้งตำบลขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า ตำบลหล่ายงาว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตำบลทีเกิดขึ้นก่อนที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเวียงแก่นในเวลาต่อมา [2]

ประวัติการจัดตั้งอำเภอ

กิ่งอำเภอเวียงแก่น ตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเวียงแก่น ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 114 ตอนที่ 67 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

เนื่องด้วยท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไปเชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในท้องที่ กระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงแบ่งท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ 1 แห่ง เรียกชื่อว่า "กิ่งอำเภอเวียงแก่น" มีเขตปกครอง รวม 3 ตำบล คือ ตำบลม่วงยาย ตำบลปอ และตำบลหล่ายงาว ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตำบลม่วงยาย ให้อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย [3]

กิ่งอำเภอเวียงแก่นได้เปิดทำการให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2530 เป็นต้นมา มีเขตการปกครองเดิม 3 ตำบล ต่อมาได้ตั้งตำบลท่าข้ามขึ้นอีก 1 ตำบล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลให้ท้องที่อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเทิง และกิ่งอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 171 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2531 มีผลตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2531 มีเนื้อหาสำคัญคือ

เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 6 และมาตรา 29 ให้ตั้งตำบลท่าข้าม โดยโอนหมู่บ้าน จำนวน 5 หมู่บ้านจากตำบลปอ ในท้องที่กิ่งอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

จึงทำให้กิ่งอำเภอเวียงแก่นในขณะนั้น มีเขตการปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 4 ตำบล [4]

ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอเวียงแก่น ตามพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอแก่งหางแมว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่วาง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอบ่อเกลือ อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอห้วยราช อำเภอแม่ลาน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอยางสีสุราช อำเภอจังหาร อำเภอบ้านธิ อำเภอภูสิงห์ อำเภอบางกล่ำ อำเภอวังม่วง และอำเภอนายูง พ.ศ. 2538 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 32 ก หน้า 1 โดยประกาศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ

กิ่งอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และกิ่งอำเภออื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก สมควรยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ และความสะดวกของประชาชนและส่งเสริมท้องที่ให้เจริญยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

มีผลให้เป็นอำเภอเวียงแก่นโดยสมบูรณ์ ในวันที่ 8 กันยายน 2538 มีท้องที่การปกครองรวม 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลม่วงยาย ตำบลหล่ายงาว ตำบลท่าข้าม และตำบลปอ นับเป็นอำเภอที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 13 ของจังหวัดเชียงราย [5]

รายนามหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอและนายอำเภอ

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเวียงแก่น
ลำดับรายนามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
1 นายชูชาติ กีฬาแปง 15 พฤษภาคม 2530 - 1 เมษายน 2533
2 นายสมโภชน์ กระจ่างพืช 2 เมษายน 2533 - 3 ธันวาคม 2533
3 นายสุชาติ สุวรรณกาศ 21 มกราคม 2533 - 13 มีนาคม 2534
4 นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต 8 เมษายน 2534 - 28 มีนาคม 2537
5 ว่าที่ ร.ต.สกุลวัฒน์ พัฒน์โชติ 28 มีนาคม 2537 - 2 เมษายน 2538
6 นายประเสริฐ โอสถาพันธุ์ 3 เมษายน 2538 - 30 เมษายน 2538
7 นายเลื่อน รัตนมงคล 1 พฤษภาคม 2538 - 6 กันยายน 2538


รายนามผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเวียงแก่น
ลำดับรายนามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
1 นายเลื่อน รัตนมงคล 7 กันยายน 2538 - 13 กรกฎาคม 2540
2 นายปิติธรรม ฐิติมนตรี 14 กรกฎาคม 2540 - 1 พฤศจิกายน 2541
3 นายศักดิ์ชัย จ.ผลิต 2 พฤศจิกายน 2540 - 10 ธันวาคม 2544
4 นายนิพนธ์ แจ้งจันทร์ 11 ธันวาคม 2544 - 15 ธันวาคม 2545
5 นายเทพสิทธิ์ ธัญญวนิช 23 ธันวาคม 2545 - 5 ตุลาคม 2546
6 นายบำเพ็ญ บินไทยสงค์ 6 ตุลาคม 2546 - 11 พฤศจิกายน 2550
7 นายเรวัต ประสงค์ 12 พฤศจิกายน 2550 - 22 มิถุนายน 2551
8 นายพิภัช ประจันเขตต์ 23 มิถุนายน 2551 - 23 พฤศจิกายน 2551
9 ร.ท.ศักดิ์ชัย หงษ์ทอง 24 พฤศจิกายน 2551 - 21 กุมภาพันธ์ 2553
10 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ 22 กุมภาพันธ์ 2553 - 29 กรกฎาคม 2555
11 นายสุภักดิ์ เศวตวิษุวัต 30 กรกฎาคม 2555 - 30 กันยายน 2556
12 นายทัศนัย สุธาพจน์ 14 พฤศจิกายน 2556 - ปัจจุบัน
13นายคำรณ ศรีโพธิ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอเวียงแก่น http://www.chiangraifocus.com/news/details.php?id=... http://wiki.moohin.com/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%... http://www.tourismchiangrai.com/index.php?p=previe... http://www.tourismchiangrai.com/index.php?p=previe... http://wiangkaenpolice.com/wk_027.htm http://wiangkaenpolice.com/wk_044.htm http://www.%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0... http://www.medimind.net/index.php?lay=show&ac=arti... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.na.mahidol.ac.th/LCProj/Thai-Folksy/Fol...