ประวัติ ของ อำเภอแม่ลาน้อย

แม่ลาน้อยแต่เดิมเป็นถิ่นที่ตั้งของชาวลัวะ (ละว้า) อาศัยประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามลำน้ำสองแง่ ซึ่งมีต้นน้ำจากทิวเขาเดียวกัน แง่ที่ไหลไปทางแม่ลาหลวงเป็นแง่ที่กว้างใหญ่และมีความยาวกว่าแง่ที่ไหลมาทางแง่แม่ลาน้อย และเนื่องจากที่ราบข้างลำน้ำเป็นถิ่นฐานทำมาหากินของพวกชาวลัวะมาก่อน จึงเรียกชื่อแม่น้ำทั้งสองสายว่า "แม่ลัวะหลวง" และ "แม่ลัวะน้อย" ต่อมาชาวลั๊วะถูกชาวเงี้ยว (ไทยใหญ่) เข้าแย่งที่ทำกิน พวกลัวะจึงร่นถอยอพยพห่างออกไป นาน ๆ เข้าการออกเสียงคำว่า "ลัวะ" ก็เพี้ยนไปเป็น "ลา" ตามสำเนียงของชาวเงี้ยว ในที่สุดเรียกชื่อเป็น "แม่ลาน้อย" มาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอแม่ลาน้อย เป็นอำเภอที่โอบล้อมด้วยภูเขา เป็นอำเภอที่แยกออกมาจากอำเภอขุนยวม และอำเภอแม่สะเรียง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่, ปกากะญอ, ละว้า และม้ง ถือว่าเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อมาก แต่ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องเหล่านี้ ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย และป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งขวา[1]