อิเหนาในภาษาไทย ของ อิเหนา

นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยก็ได้แต่งเรื่องอิเหนาขึ้นมาหลายสำนวนด้วยกัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก และน่าแปลกใจที่พบว่ามีอิเหนาในภาษาไทยกว่าสิบสำนวน ดังนี้

  1. บทละครเรื่องอิเหนาครั้งกรุงเก่า. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช มีอยู่ตอนเดียว เข้าใจว่าเป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า
  2. อิเหนาคำฉันท์. งานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งในสมัยธนบุรี จับตอนอิเหนาลักบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ
  3. บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  4. บทละครเรื่องดาหลัง. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
  5. บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
  6. บทมโหรีเรื่องอิเหนา. ของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ในรัชกาลที่ 2
  7. นิราศอิเหนา. ของสุนทรภู่ ตอนลมหอบ
  8. บทสักวาเรื่องอิเหนา. แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3
  9. อิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนอุณากรรณ
  10. อิเหนาคำฉันท์ พระนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 4 ตอนเข้าห้องจินตะหรา
  11. บทเจรจาละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 68 บท
  12. บทละครพูดเรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตอนศึกกระหมังกุหนิง
  13. บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตอนใช้บน
  14. บทสักวาเรื่องอิเหนา เล่นถวายในรัชกาลที่ 5 ตอนเสี่ยงเทียน ตอนชนไก่ และตอนสึกชี
  15. หิกะยัต ปันหยี สมิรัง. พระนิพนธ์แปล ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามลายู
  16. อิเหนาฉบับอารีนครา. แปลจากอิเหนาชวา ผู้แต่งชื่ออารีนครา ขุนนิกรการประกิจ เป็นผู้แปล
  17. ปันหยี สะมิหรัง คำกลอน. น.อ.หลวงสำรวจวิถีสมุทร ประพันธ์จากเรื่อง หิกะยัต ปันหยี สมิรัง
  18. เล่าเรื่องอิเหนา รศ. วิเชียร เกษประทุม

อย่างไรก็ตาม เรื่องอิเหนาเป็นที่นิยมกันมากกว่าเรื่องดาหลัง เนื่องจากเรื่องดาหลังมีเนื้อเรื่องที่ซ้ำซ้อน และสับสนมาก แต่แม้จะเป็นเรื่องจากชวา การบรรยายบ้านเมืองและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนเป็นฉากของไทยทั้งสิ้น และนับว่าน่ายินดี ที่มีการนำอิเหนาฉบับของชวามาแปลให้ชาวไทยได้รู้จักและเปรียบเทียบกับอิเหนาฉบับดั้งเดิมของไทย นิทานปันหยีหรือเรื่องอิเหนานับเป็นวรรณคดีต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำศัพท์ชวาจำนวนไม่น้อย เช่น บุหงา บุหลัน บุหรง ลางิต ตุนาหงัน มะงุมมะงาหรา ฯลฯ