พระประวัติ ของ อี_พัง-จา

พระชนม์ชีพตอนต้น

อี พัง-จา หรือพระนามเดิมว่าเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ ประสูติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายโมริมาซะ นาชิโมโตะโนะมิยะ กับเจ้าหญิงอิตสึโกะ พระชายาฯ (สกุลเดิม นาเบชิมะ) มีพระขนิษฐาร่วมอุทรหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงโนริโกะแห่งนาชิโมโตะ (2450–2535) และมีพระอนุชาที่พระมารดาทรงรับเลี้ยงไว้ ชื่อเจ้าชายโนริฮิโกะแห่งนาชิโมโตะ (ต่อมาได้มียศและเปลี่ยนนามเป็นเคานต์โนริฮิโกะ ทาซูตะ) หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของพระองค์ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ทั้งหมด

พื้นฐานครอบครัวของพระองค์ พระบิดาเป็นพระโอรสในเจ้าชายอาซาฮิโกะ คูนิโนะมิยะ เจ้าหญิงมาซาโกะจึงเป็นพระญาติและมิตรสหายกับเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ (ต่อมาได้เป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิโชวะ) ส่วนบรรพชนฝ่ายพระมารดาคือสกุลนาเบชิมะ เป็นบุตรของนาโอฮิโตะ นาเบชิมะ ไดเมียวคนสุดท้ายแห่งแคว้นซางะ เจ้าหญิงพังจามีพระญาติชั้นหนึ่งในสายนี้ที่มีความสนิทสนมเป็นสหายร่วมกัน ชื่อ เซ็ตสึโกะ มัตสึไดระ ที่ต่อมาได้เป็นพระชายาในเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ และโยชิโกะ มัตสึไดระ ที่ต่อมาเป็นพระชายาในเจ้าชายก็อนแห่งเกาหลี

อภิเษกสมรส

เจ้าหญิงพังจาและพระภัสดา เมื่อปี พ.ศ. 2467

เมื่อพระองค์ล่วงเข้าสู่วัยสาวสะพรั่ง พระองค์ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสตรีที่มีความเหมาะสมกับการเป็นพระชายาของยุพราชเจ้าแห่งญี่ปุ่น ซึ่งก็รวมไปถึงเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ พระสหาย และโทกิโกะ อิชิโจที่มีความเหมาะสมในเรื่องของวัยวุฒิและสถานะทางสังคม แต่ด้วยเหตุที่ว่าพื้นฐานครอบครัวของพระองค์นั้นมีบุตรน้อยทั้งยังเป็นสตรีเสียหมดเจ้าหญิงอาจจะให้กำเนิดพระราชโอรสยาก เจ้าหญิงมาซาโกะจึงเป็นตัวเลือกที่ถูกตัดออกเป็นคนแรก

แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงมาซาโกะก็ได้เสกสมรสกับมกุฎราชกุมารอึยมินแห่งเกาหลีแทน โดยมกุฎราชกุมารแห่งเกาหลีพระองค์นี้ถูกนำมาเข้ารับการศึกษาที่ญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2459 ครั้นเจ้าหญิงมาซาโกะทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกะกุชูอิงในปี พ.ศ. 2463 ก็ได้มีการจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 28 เมษายนปีเดียวกันนั้น ณ พระราชวังลี กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการสถาปนาเป็น "มกุฎราชกุมารีแห่งเกาหลี" ส่วนพระนาม "มาซาโกะ" ของพระองค์ออกเสียงอย่างเกาหลีว่า "พังจา" และสะกดด้วยอักษรจีนเช่นกัน

เจ้าหญิงมาซาโกะ หรือเจ้าหญิงพังจา ได้ให้ประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายจิน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2464 แต่พระโอรสพระองค์น้อยนี้ก็มีพระชนม์ให้ชื่นชมโสมนัสได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 ขณะที่มกุฎราชกุมารและเจ้าหญิงพังจาประทับอยู่ในเกาหลี สร้างความเศร้าเสียพระทัยแก่ทั้งสองพระองค์อย่างยิ่ง

วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2469 จักรพรรดิซุนจง พระเชษฐาของมกุฎราชกุมารเสด็จสวรรคต พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น "พระราชินี" ส่วนพระสวามีเป็น "พระราชา" ก็เพราะสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลีที่ลดตำแหน่งผู้นำเกาหลีจากจักรพรรดิเป็นเพียงราชา แต่เจ้าชายอึยมินไม่เคยผ่านพิธีราชาภิเษก ทั้งสองจึงมีอิสริยยศเพียงมกุฎราชกุมาร และมกุฎราชกุมารีตามเดิม ระหว่างนี้เจ้าหญิงพังจาได้ให้ประสูติกาลพระโอรสองค์ที่สอง คือ เจ้าชายกู เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2474

ชีวิตของมกุฎราชกุมารีองค์สุดท้ายแห่งเกาหลี

เจ้าหญิงพังจาและพระภัสดา ขณะเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2476(จากซ้าย) เจ้าชายกู, จักรพรรดินีซุนจ็อง, เจ้าหญิงพังจา และจูเลีย มุลล็อก

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มเชื้อพระวงศ์ รวมทั้งตำแหน่งขุนนางต่าง ๆ ถูกล้มเลิกโดยการยึดครองของสหรัฐอเมริกา การปกครองของเกาหลีจึงเปลี่ยนแปลงไป โดยเกาหลีเหนือมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้ที่พระองค์ประทับอยู่ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ ในสมัยของรัฐบาลอี ซึง-มัน มกุฎราชกุมารอึยมินได้เสด็จออกจากเกาหลีไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในญี่ปุ่นแทน จนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ครอบครัวของอดีตมกุฎราชกุมารได้เสด็จกลับเกาหลีตามคำกราบทูลเชิญของพัก ช็อง-ฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โดยประทับที่พระราชวังชังด็อก ในโซล[2] แต่หลังจากนิวัติกลับมาได้ไม่ถึงทศวรรษ มกุฎราชกุมารอึยมินได้หมดสติและสิ้นพระชนม์ลงในโรงพยาบาลเซอุลซ็องโม (Seoul Sungmo Hospital) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ด้วยพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เจ้าหญิงพังจาได้อุทิศพระองค์ให้กับการศึกษาเกี่ยวกับสภาพจิตใจและบุคคลทุพพลภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานและคณะกรรมการต่าง ๆ รวมทั้ง "คณะกรรมการที่ระลึกถึงมกุฎราชกุมารอึยมิน" (Commemorative Committee of Crown Prince Euimin) และโรงพยาบาลมย็องฮวี-ว็อน สำหรับคนหูหนวก, เป็นใบ้ หรือผู้ป่วยทารก นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งโรงเรียนจาฮเย และโรงเรียนมย็องฮเย สำหรับคนพิการให้ปรับตัวเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้รับการเคารพจากชาวเกาหลีว่าเป็น "แม่พระของผู้ทุพพลภาพแห่งเกาหลี" แม้จะมีการต่อต้านญี่ปุ่นก็ตาม แต่เจ้าหญิงพังจาก็เป็นชาวญี่ปุ่นที่ชาวเกาหลีเคารพรักอย่างกว้างขวาง[3][4]

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงพังจาในปี พ.ศ. 2532 ราชสกุลนาชิโมโตะได้เข้ามาแสดงความเคารพเจ้าหญิงพังจาที่โซลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ราชสกุลนาชิโมโตะมีการจัดตั้งกองทุนการกุศลให้การช่วยเหลือชาวเกาหลีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจร่างกาย เฉกเช่นเมื่อสมัยที่เจ้าหญิงพังจาได้กระทำขณะเจ้าหญิงยังมีพระชนม์อยู่[5]

ส่วนพระองค์ได้เข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และมีพระนามทางศาสนาว่า "มารีอา"[6]

สิ้นพระชนม์

เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2532 ณ ตำหนักนักซ็อน พระราชวังชังด็อก โซล สิริรวมพระชนมายุได้ 87 พรรษา งานปลงพระศพที่จัดขึ้นเป็นกึ่งพระราชพิธี โดยมีเจ้าชายทากาฮิโตะ มิกาซะโนะมิยะ และเจ้าหญิงยูริโกะ พระชายาฯ พระประยูรญาติจากญี่ปุ่นเข้าร่วมงานพิธีดังกล่าว พระศพของพระองค์ได้ถูกฝังเคียงข้างพระศพพระสวามีคือมกุฎราชกุมารอึยมินที่สุสานหลวงราชวงศ์โชซอนใกล้โซล

มีหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์ คือหนังสือ The World is One: Princess Yi Pangja's Autobiography โดยเนื้อหาในหนังสือจะมีรายละเอียดปลีกย่อยของพระองค์รวมอยู่ด้วย