แก่นของเรื่อง ของ อีเลียด

นอสตอส

นอสตอส (อังกฤษ: Nostos; กรีกโบราณ: νόστος) (พหูพจน์ nostoi) เป็นคำภาษากรีกโบราณ หมายถึง "การกลับบ้าน" คำนี้ปรากฏในมหากาพย์ทั้งสิ้น 7 ครั้ง และรูปแบบการบรรยายเช่นนี้มักปรากฏทั่วไปในวรรณกรรมกรีก เช่น มหากาพย์โอดิสซีย์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางกลับบ้านของโอดิซูส นับเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของรูปแบบวรรณกรรมประเภทนี้ นอสตอสไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่สามารถยึดเมืองทรอย จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญของอักกะเมมนอนที่จะเอาชนะให้ได้ไม่ว่าจะต้องสูญเสียสักเท่าใด

คลีออส

คลีออส (Kleos ภาษากรีก: κλέος) เป็นคำภาษากรีกโบราณ หมายถึง "ชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์" ตัวละครบางตัวโดยเฉพาะโอดิซูส คลีออสของเขาคือการได้ชัยชนะและกลับมาตุภูมิ ในขณะที่อคิลลีสอาจต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในมหากาพย์ อีเลียด มีความตอนหนึ่งซึ่งอคิลลีสเล่าให้โอดิซูส ฟีนิกซ์ และอจักส์ สหายของเขาฟังเกี่ยวกับชะตาของเขา ว่าจะต้องเลือกระหว่างชัยชนะ กับการได้กลับบ้าน คลีออสของอคิลลีสเป็นสิ่งพิเศษ ในวรรณกรรมเอ่ยถึงว่า kleos aphthiton (ภาษากรีก: κλέος ἄφθιτον) ซึ่งหมายถึง "ชื่อเสียงอันเป็นนิรันดร์" คำนี้มีการเอ่ยถึงในมหากาพย์อีเลียด 5 ครั้ง ล้วนแต่กล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ คทาของอักกะเมมนอน ล้อรถของฮีบ คฤหาสน์โพไซดอน บัลลังก์เทพซูส และคฤหาสน์เฮไฟสตอส ตามลำดับ มีเพียงอคิลลีสซึ่งเป็นมนุษย์เพียงผู้เดียวได้รับการเอ่ยถึงด้วยคำนี้ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่รอเขาอยู่ หากเขาตัดสินใจอยู่เพื่อสู้ศึกเมืองทรอย

ทิเม

ทิเม (Timê ภาษากรีก: тιμή) เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับคลีออสอย่างใกล้ชิด มีความหมายว่า "ความเคารพนับถือ" หรือ "เกียรติ" ทิเมของแต่ละบุคคลขึ้นกับสถานะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ หรือผลลัพธ์จากการสงคราม ปัญหาของทัพกรีกเริ่มต้นขึ้นเมื่ออักกะเมมนอนหมิ่นเกียรติไครสิสโดยการลักพาตัวบุตรสาวของเขา ต่อมาอคิลลีสก็โกรธอักกะเมมนอนเมื่อเขาแสดงออกว่าไม่ให้เกียรติแก่อคิลลีส ว่าไม่มีความสำคัญต่อทัพกรีก

พิโรธของอคิลลีส

The Wrath of Achilles (พิโรธของอคิลลีส) วาดโดย มิเชล ดรอลลิง ค.ศ. 1819

ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า คำแรกของมหากาพย์ อีเลียด คือ μῆνιν (mēnin) ซึ่งหมายถึง "พิโรธ" อันเป็นการประกาศถึงหลักการของงานประพันธ์ชิ้นนั้นที่โฮเมอร์ตั้งใจสื่อออกมา นั่นคือความกริ้วโกรธาของอคิลลีส อารมณ์ของอคิลลีสเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมด นับแต่ความพ่ายแพ้ของทัพกรีก การเสียชีวิตของปโตรกลัส จนถึงการสังหารเฮกเตอร์ และนำไปสู่การล่มสลายของทรอย ซึ่งแม้จะมิได้กล่าวถึงโดยตรงใน อีเลียด แต่ได้มีการชี้นัยยะให้ทราบอย่างชัดเจนหลายครั้ง ความพิโรธของอคิลลีสปรากฏครั้งแรกในหนังสือเล่มที่ 1 เมื่ออักกะเมมนอนหมิ่นเกียรติไครสิส เจ้าพิธีศาลอพอลโลของเมืองทรอย โดยชิงตัวนางไครเซอีสบุตรีของเขามา และไม่ยอมคืนให้แม้จะเสนอ "ของขวัญมากมายเกินคณานับ"[7] ไครสีสจึงอธิษฐานต่อเทพอพอลโล ทำให้ทรงบันดาลฝนธนูมากมายตกใส่กองทัพกรีกเป็นเวลาเก้าวัน อคิลลีสกล่าวหาว่าอักกะเมมนอนเป็น "ผู้ละโมบที่สุดในหมู่มนุษย์"[8] อักกะเมมนอนยอมคืนนางไครเซอีส แต่ให้แลกกับนางไบรเซอีส ทาสสาวผู้เป็นที่รักของอคิลลีสมาแทน

โทสะของอคิลลีสคราวนี้มีเพียงเทพีอะธีนาเท่านั้นที่สามารถระงับไว้ได้ จากนั้นอคิลลีสสาบานว่าจะไม่ฟังคำสั่งของอักกะเมมนอนอีก และไปร้องขอต่อนางธีทิสผู้มารดา ให้อ้อนวอนต่อเทพซูสให้โปรดบันดาลชัยชนะแก่ฝ่ายเมืองทรอยเพื่อลงโทษอักกะเมมนอน ผลจากการนี้ทำให้ทัพเมืองทรอยโดยการนำของเฮกเตอร์เกือบจะเอาชนะทัพกรีก ขับไล่ทัพกรีกลงทะเลไปได้ (เล่มที่ 12)

"พิโรธของอคิลลีส" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผลการรบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเพื่อนสนิทของเขา (และอาจเป็นคนรักด้วย) คือ ปโตรกลัส สวมเสื้อเกราะของอคิลลีสออกไปร่วมรบ และถูกสังหารในระหว่างการรบกับเฮกเตอร์ เมื่อเนสเตอร์กลับมารายงานเขา อคิลลีสร่ำไห้เสียใจมาก คร่ำครวญและดึงทึ้งเส้นผมของตน นางธีทิสมาปลอบโยนบุตร แต่เขาก็ไม่อาจคลายความแค้นได้ อคิลลีสบอกกับมารดาว่าเขาจะแก้แค้นเฮกเตอร์ แม้ชะตาของเขาจะผูกอยู่กับเฮกเตอร์ แต่เขายอมสิ้นชีวิตเพื่อแก้แค้นให้เพื่อน

อคิลลีสกลับเข้ารบเมืองทรอยอีกครั้งด้วยโทสะอันเกิดจากความตายของปโตรกลัส เขาสังหารทหารทรอยไปมากมายจนได้พบกับเฮกเตอร์กลางสนามรบ (เล่ม 22) เขาไล่กวดเฮกเตอร์ไปรอบกำแพงเมืองถึงสามรอบก่อนจะสังหารลงได้ โทสะสุดท้ายของอคิลลีสคือการลากศพของเฮกเตอร์ไปกับรถศึกกลับไปยังค่ายกองทัพกรีก แต่ภายหลังก็ยอมส่งร่างของเฮกเตอร์คืนแก่ท้าวเพรียม ซึ่งลอบเข้ามาในค่ายกองทัพกรีก วิงวอนขอศพบุตรของตนคืน

โชคชะตา

โชคชะตาเป็นส่วนสำคัญมากอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมหากาพย์ อีเลียด ซึ่งไม่ว่ามนุษย์หรือเทพเจ้าก็ต้องเคารพอย่างเคร่งครัดเมื่อชะตานั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ใดเป็นผู้กำหนดโชคชะตานั้นไม่ปรากฏ แต่ทั้งเทพเจ้าและมนุษย์ต่างเอ่ยถึงคำพยากรณ์ต่าง ๆ ตลอดทั้งมหากาพย์ บรรดาวีรบุรุษต่างยินดีรับชะตากรรมของตนอย่างกล้าหาญ การพยายามหลีกหนีชะตากรรมถือเป็นความขลาด ปโตรกลัสยินดีรับความตายจากเฮกเตอร์ เช่นกันกับที่เฮกเตอร์ยินดีประลองกับอคิลลีสทั้งที่รู้ว่าตนจะต้องตาย และอคิลลีสก็ยินดีตายโดยการสังหารเฮกเตอร์เพื่อแก้แค้นให้แก่สหาย และเพื่อให้กองทัพของตนสามารถชนะศึกเมืองทรอย

ในเนื้อเรื่องมีเหตุการณ์ที่แสดงถึงโอกาสจะแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นที่เกิดกับเทพเจ้าซูส เมื่อบุตรของพระองค์คือ ซาร์เพดอน กำลังจะถูกปโตรกลัสสังหาร พระองค์สามารถบันดาลแก้ไขเหตุการณ์ได้ แต่เมื่อทรงปรับทุกข์กับเทพีเฮราพระมเหสี นางห้ามปรามไว้ พระองค์จึงต้องปล่อยให้ชะตากรรมดำเนินไปโดยไม่ได้แก้ไข อีกคราวหนึ่ง ซูสคิดจะช่วยชีวิตเฮกเตอร์ ซึ่งเป็นนักรบที่พระองค์โปรดปรานและนับถือ แต่เทพีอะธีนาก็ห้ามปรามไว้

ประติมากรรมนูนต่ำที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แสดงเหตุการณ์ในเล่ม 24 ตอนนำร่างเฮกเตอร์กลับกรุงทรอย

แหล่งที่มา

WikiPedia: อีเลียด http://ablemedia.com/ctcweb/netshots/homer.htm http://www.crystalinks.com/homer.html http://www.gradesaver.com/classicnotes/titles/ilia... http://www.imdb.com/boxoffice/alltimegross?region=... http://www.locusmag.com/SFAwards/Db/Locus2004.html http://messagenet.com/myths/essays/iliad.html http://www.metal-archives.com/review.php?id=21 http://www.salon.com/books/review/2008/02/21/shano... http://www.mlahanas.de/Greeks/Mythology/Iliad.html http://muse.jhu.edu/demo/oral_tradition/v018/18.1d...