กำเนิดอี้จิง ของ อี้จิง

เมื่อครั้งบรรพกาล กษัตริย์อวี่ ประสบปัญหาอุทกภัย มีมังกรแบกภาพใบหนึ่งโผล่มาจากแม่น้ำฮวงโห (ภาพเหอถู) ตะพาบวิเศษก็คาบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นจากลำน้ำลั่วสุ่ย (ตำราลั่วซู) อวี่อาศัยภาพและตำรา ปรับเปลี่ยนขุนเขาทางน้ำแก้ปัญหาอุทกภัยทั้งเก้าแคว้นสำเร็จ หลังจากนั้น ก็อาศัยภาพเหอถูและความรู้จากการขจัดอุทกภัย เขียนตำราเหลียงซานขึ้นเป็นความหมายว่าเชื่อมต่อแม่น้ำภูเขา

เมื่อกษัตริย์อวี่เสียชีวิต บุตรชายคือเซี่ยฉี ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย เทิดทูนตำราเหลียงซานเป็นคัมภีร์วิเศษ ใช้เสี่ยงทายทำนายโชคเคราะห์ต่อมา ซางทังล้มล้างราชวงศ์เซี่ย ก่อตั้งราชวงศ์ซางขึ้น ตำราเหลียงซานตกอยู่ในมือมหาเสนาบดีนามอีอิน ทำการปรับปรุ่งกลายเป็นตำรากุยฉัง หมายความว่าสรรพสิ่งของฟ้าดินล้วนเก็บซ่อนอยู่ภายใน ต่อมาใช้เป็นเครื่องมือทำนายโชคเคราะห์

ปลายราชวงศ์ซาง ติ้วอ๋องจับกุมจีซาง ไว้ในสถานที่เรียกว่าเซียงหลี่ จีซางเป็นคนชาญฉลาดระหว่างที่ถูกขังทำการศึกษาตำรากุยฉัง จนจัดทำตำราโจวอี้ ซึ่งอีกชื่อนึงคือ อี้จิง ครอบคลุมถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งมวล สรุปแล้วตำราทั้งสามเล่มแม้มีชื่อผิดแผก แท้ที่จริงมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน