ข้อมูลทั่วไป ของ อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว มีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาหลายๆ ลูกเทือเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาใหญ่ที่เรียกว่า เทือกเขาภูพาน ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งที่ราบสูงโคราชออกเป็น 2 แอ่ง ทางตอนเหนือคือแอ่งสกลนคร ส่วนทางตอนใต้เป็นแอ่งใหญ่ คือ แอ่งโคราช – อุบล ลักษณะของหินและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่เป็นมาในอดีตภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ก่อให้เกิดจุดสนใจทางด้านการศึกษาทั้งทางธรณีวิทยาและทาง ภูมิศาสตร์โดยเฉพาะการเกิดการชะล้างของหอนทราย ทำให้มีหน้าผา บ่อรูปหม้อ (Pothole) หรือแอ่งหินบนยอดเขา และการเกิดรอยแตกของหิน (Fault) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ นอกจากจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้อีกด้วย การเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกของเปลือกโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เกิดมีภูเขาต่างๆ มากมาย เช่น ภูหมู ภูแผงม้า ภูไม้ซาง ภูของ ภูอัครอาด ภูตาเฟีย ภูผาด่าง ภูผาหอม ภูโป่งเปือย ภูหนาด ภูกะซะ ภูหัวนาค ภูผาสะเงาะ ภูสะลุน ภูถ้ำพระ ภูสระดอกบัว เหล่านี้ เรียงตัวประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างขนาดเล็กทางธรณีวิทยารูปเรื่อคว่ำซึ่งทอดตัวในแนวเดียวกับเทือกเขาใหญ่ภูพาน โดยโครงสร้างขนาดเล็กนี้มีการเอียงเทไปทางทิศาตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ชาวท้องถิ่น เรียกว่า “ดาน” กระจายอยู่ตามยอดเขาต่าง ๆ และบนยอดเขาภูสระดอกบัวมีแอ่งหินขนาดความกว้างประมาณ 5–6 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร มีดอกบัวซึ่งเป็นดอกบัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นดอกบัวเผื่อนมีสีขาวแซมด้วยสีชมพูอ่อน กระจายตามแอ่งบัวจึงเป็นที่มาของอุทยานแห่งชาติ ภูสระดอกบัว นอกจากนั้นยังมี ยอดภูไม้ซางเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ 494 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดภูเขาอื่น ๆ มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 350 - 450 เมตร พื้นที่เหล่านี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร หลายสาย เช่น ห้วยทม ห้วยไห ห้วยตูบ ห้วยก้านเหลือง ห้วยลำกลาง ห้วยขี้เหล็ก ห้วยหินขัว ห้วยจิงหิง เป็นต้น ลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่พื้นราบ รายรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งราษฎรที่อยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตรตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน[1]

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน ระหว่าง เดือน พฤษภาคม - เดือน ตุลาคม จะมีฝนตกชุก ในเดือนสิงหาคม
  • ฤดูหนาว ระหว่าง เดือน พฤศจิกายน - เดือน มกราคม อุณหภูมิต่ำสุด ในเดือนธันวาคม
  • ฤดูร้อน ระหว่าง เดือน กุมภาพันธ์ - เดือน เมษายน อุณหภูมิสูงสุด ในเดือนมีนาคม

พืชพรรณและสัตว์ป่า

พืชพรรณในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

  1. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ป่าเต็งรังในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นสังคมพืชที่ครอบคลุมเนื้อที่มากที่สุดหรือประมาณร้อยละ 90 ของพื้นที่ ส่วนใหญ่ ปกคลุมอยู่ในพื้นที่ที่มีดินค่อนข้างตื้น เป็นทรายจัด หรือมีหินผสมอยู่มากหรือในพื้นที่มีชั้นของดินลูกรัง (Later tic - zone) ปรากฏอยู่ชิดผิวดินลักษณะของสังคมพืชแห่งนี้ พบขึ้นตามพื้นที่ค่อนข้างราบและ/หรือมีหินปรากฏอยู่ที่ผิวดินเป็นจำนวนมาก มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โครงสร้างเรือนยอดทางด้านตั้งมี 2 ลักษณะ ลักษณะเรือนยอดแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้น เรือนยอด ชั้นบนสูงประมาณ 15 – 25 เมตร ไม้เด่นของสังคมได้แก่ เต็ง อื่นๆ ที่ขึ้นผสมอยู่ เช่น ไม้พะยอมหว้า มะพอก ประดู่ เรือนยอดชั้นรองมีความสูงอยู่ระหว่าง 5 - 14 เมตร เป็นไม้ขนาดกลาง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ กระโดน ขะเจ๊าะ เคด ส้านใบเล็ก รกฟ้า ยางเหียง
  2. ป่าผสมผลัดใบ ( Mixed Decidous Forest ) พบบริเวณตอนกลางขึ้นไปตามทางตอนใต้ของพื้นที่รวมทั้งบริเวณที่ลาดชันด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะเรือนยอดแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอด เรือนยอดชั้นบนสูงสุดประมาณ 18 - 30 เมตร พันธ์ไม้สำคัญของเรือนยอด ชั้นนี้ได้แก่ แดง ตะแบกเปลือกบาง ประดู่ สาธร ส้านใหญ่ ตระคร้อ กางขี้มอด ติ้วเกลี้ยง เป็นต้น เรือนยอดชั้นรองมีความสูงประมาณ 8 - 17 เมตร ไม้เด่นที่สำคัญได้แก่ ขานาง อีแปะ สกุณี เก็ดแดง ปอเลี้ยงฝ้าย คูณ มะกอก กว้าว โมกมัน เป็นต้น นอกจากนี้ป่าผสมผลัดใบยังเป็นแหล่งไม้ไผ่ที่สำคัญ ชนิดที่ปรากฏอยู่ทั่วไปได้แก่ ไม้ไผ่ซาง และไผ่ไร่
  3. ป่าดิบแล้ง (Dry Evegreen Forest) พบบริเวณตอนกลางของพื้นที่และตอนล่างของพื้นที่แต่เป็นหย่อมเล็กๆ เนื่องจากดินค่อนข้างลึกและเก็บความชื้นได้ดีพอสมควร ลักษณะโครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ชั้นเรือนยอด เรือนยอดชั้นบนสุดมีความสูงประมาณ 20 - 40 เมตร ไม้ที่สำคัญในเรือนยอดชั้นนี้ได้แก่ กระบาก ยาง มะพอก คอแลน ต้น เรือนยอดชั้นรองมีความสูงประมาณ 18 เมตร ค่อนข้างหนาแน่นมากจึงทำให้เห็นเรือนยอดที่ต่อเนื่องกัน พรรณไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ ยางโอน พลับพลา เสม็ดแดง คันจ้อง พลองใบเล็ก พะยอม เปล้าหลวง กระบก เป็นต้น ส่วนชั้นของไม้ขนาดเล็ก และไม้พุ่มมีความสูงกว่า 8 เมตร ปรากฏค่อนข้างหนาแน่นผสมกับไม้วัยรุ่นของไม้ชั้นกลางและชั้นบน ที่พบมากได้แก่ หมักม้อ ครมเขา แอ พื้นป่าประกอบด้วย กล้าไม้ชนิดต่างๆ ชั้นหนาแน่นผสมกับพืชล้มลุกมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะพืชในวงศ์ขิงข่า เข็มป่า เถาประสงค์ กล้วยเต่า เป็นต้นสังคมพืชในชั้นของการทดแทนในพื้นที่ที่เคยถูกรบกวนในอดีต (Secondary Forest) เป็นผลจากการทำลายพื้นที่อยู่ในระหว่างการทดแทน (Succersbnal Stage) หลายระดับด้วยกัน ความผันแปรของสังคมพืชที่พบขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการทำลาย และช่วงเวลาที่ถูกทอดทิ้งไว้ และสังคมป่าดั้งเดิมที่ก่อนถูกทำลาย

สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งใหม่ และมีชุมชนที่ตั้งอยู่ทั้งในและนอกเขตอุทยานจำนวนมาก นอกจากนี้สภาพป่าส่วนมากยังเป็นป่าเต็งรัง ที่มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ปัจจุบันสัตว์ป่าไม่ค่อยมีให้เห็น นอกจาก กระต่ายป่า ลิง กระรอก และนกชนิดต่างๆ สันนิฐานว่าสัตว์ใหญ่คงอพยพไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือไม่ก็ถูกล่าจนหมด จากการสำรวจความหลากหลายของชนิดของสัตว์ป่า พบว่ามีสัตว์ป่าประกอบไปด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์ที่พบเห็นได้โดยตรง ได้แก่ กระแต บ่าง กระต่ายป่า กระจ้อน เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่พบเพียงแต่ร่องรอย เช่น หมูป่า เก้ง นก เป็นกลุ่มสัตว์ที่ค่อนข้างจะพบเห็นได้ตลอดเวลาทั่วพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นนกที่เลือกถิ่นอาศัยในรูปของป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ นกที่พบ เช่น ยางควาย นกกระปูด เหยี่ยวขาว และนกเขาเปล้าธรรมดา ไก่ป่า นกกระเต็น นกกระจอก นกเอี้ยง นกเค้าแมว เป็นต้น

  1. สัตว์เลื้อยคลาน ตัวอย่าง เช่น งูเห่า งูสิง งูเขียว งูจงอาง จิ้งจก กิ่งก่าแก้ว จิ้งเหลน ตะกวด และจิ้งเหลนภูเขา เป็นต้น
  2. ปลา ยังไม่มีการสำรวจพันธ์ปลาที่เกิดตามลำธารในป่า และลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี แต่ที่เชื่อว่ามีในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณลำห้วยขนาดใหญ่ ชนิดปลาได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเคียน ปลาซิว ปลาเนื้ออ่อน ปลาแขยงใบข้าว ปลาตะเพียน ปลากดเหลือง ปลาไหล
  3. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบโดยการส่องไฟในเวลากลางคืน ตัวอย่างเช่น กบ อึ่งอ่าง และเขียด เป็นต้น
  4. แมลงป่าไม้ เป็นพวกผีเสื้อกลางวันจัดเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของผีเสื้อมากอีกแห่งหนึ่งซึ่งยังคงความอุดมสมบรูณ์ นอกจากนี้พบได้บริเวณตามลำห้วยที่มีน้ำขังหรือพื้นที่โล่ง เช่น ผีเสื้อหนอนคูณธรรมดา ผีเสื้อยักษ์ นอกจากนี้ยังพบแมลงป่าไม้ที่มีความสวยงามมาก และพบเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูฝนบริเวณป่าเต็งรังนั่นคือ แมลงทับขาแดง กับแมลงทับขาเขียวโดยที่แมลงทับขาแดง พบเป็นจำนวนมากกว่า

ใกล้เคียง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี อุทยานราชภักดิ์ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร