ลักษณะของอุปรากร ของ อุปรากร

  • 1. ลิเบรตโต (Libretto) คือเนื้อเรื่อง หรือบทละครของอุปรากร บางครั้งอาจดัดแปลงมาจากนวนิยายหรือบทละครอื่น ๆ บางครั้งก็เป็นบทที่ผู้ประพันธ์แต่งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคีตกวี เช่น ดา ปองเต (Da Ponte) เขียนบทบางเรื่องให้กับโมสาร์ท เช่น เรื่อง Don Giovanni, บัวตา (Boita) เขียนบทบางเรื่องให้กับแวร์ดี เช่น เรื่อง Otella บางครั้งบทก็เป็นของผู้ประพันธ์เพลงเอง เช่น วากเนอร์ ประพันธ์ Lohengrin และ The Flying Dutchman และเมน็อตตี (Menotti) ประพันธ์ The Telephone เป็นต้น
  • 2. เพลงโหมโรง (Overture) คือ บทประพันธ์ที่ใช้บรรเลงนำก่อนการแสดงอุปรากร บางครั้งใช้คำว่า พรีลูด (Prelude) เป็นเพลงที่แสดงถึงอารมณ์โดยรวมของอุปรากรที่จะแสดง กล่าวคือ ถ้าเป็นเรื่องเศร้า เพลงโหมโรงก็จะมีทำนองเศร้าอยู่ในที เป็นต้น บางครั้งเพลงโหมโรงอาจรวมเอาทำนองหลักจากอุปรากรฉากต่าง ๆ ไว้ก็ได้ เพลงโหมโรงนี้มักเป็นเพลงสั้น ๆ ประมาณ 5-10 นาที ปกติจะใช้วงออร์เคสตราทั้งวงบรรเลง ลักษณะของเพลงโหมโรงมักรวมเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านความดัง – ค่อย สีสัน ลีลาต่าง ๆ จึงทำให้เพลงโหมโรงเป็นบทเพลงที่ชวนฟัง เพลงโหมโรงของอุปรากรบางเรื่องมีความไพเราะเป็นที่นิยมฟังและบรรเลงเป็นบทเพลงแรกของการแสดงคอนเสิร์ตโดยทั่วไป เช่น “Overture of The Marriage of Figaro” ของโมสาร์ท “The Barber of Seville Overture” ของ รอสซินี “Fidelio” ของเบโธเฟ่น “Overture of Carmen” ของบิเซต์ เป็นต้น
  • 3. เรซิเททีฟ (Recitative) คือบทสนทนาในอุปรากรที่ใช้การร้องแทนการพูด อย่างไรก็ตามมักจะไม่เป็นทำนองที่ไพเราะมากนัก จะเน้นที่คำพูดมากกว่า แต่ก็มีดนตรีและการร้องช่วยทำให้บทสนทนาน่าสนใจ เป็นลักษณะการร้องอีกประเภทหนึ่ง
  • 4. อาเรีย (Aria) คือ บทร้องเดี่ยวในอุปรากร มีลักษณะตรงกันข้ามกับเรซิเททีฟ เนื่องจากเน้นการร้องและดนตรีมากกว่าเน้นการสนทนา อาเรียเป็นบทร้องที่ตัวละครเดี่ยวร้อง จัดเป็นบทร้องที่เต็มไปด้วยลีลาของดนตรีที่งดงาม ยากแก่การร้อง กล่าวได้ว่าอาเรียเป็นส่วนที่ทำให้อุปรากรมีความเป็นเอกลักษณ์ได้เลยทีเดียว
  • 5. บทร้องประเภทสอง สาม สี่ และมากกว่านี้ของตัวละคร (Duo, Trio, and Other Small Ensembles) บทร้องที่มีนักร้องสองคนแทนที่จะเป็นคนเดียวในลักษณะของอาเรีย เรียกว่า ดูโอ (Duo) ถ้าเป็น 3 คนร้องเรียกว่า ทริโอ (Trio) สี่และห้าคนร้องเรียกว่า ควอเต็ต (Quartet) และควินเต็ต (Quintet) และอาจมีมากกว่าห้าคนก็ได้ เช่น บทร้อง 6 คน (Sextet) “Lucia” จากเรื่อง Rigoletto เป็นบทร้องที่มีชื่อเสียงมาก
  • 6. บทร้องประสานเสียง (Chorus) ในอุปรากรบางเรื่องที่มีฉากประกอบไปด้วยผู้เล่นจำนวนมากมักจะมีการร้องประสานเสียงเสมอ บทร้องประสานเสียงที่มีชื่อเสียง เช่น “The Anvil Chorus” จาก Il Trovatore, “The Pilgrim’s Chorus” จาก “Tannhauser, The Triumphal Chorus” จาก Aida
  • 7. ออร์เคสตรา (Orchestra) วงออร์เคสตรานอกจากจะเล่นเพลงโหมโรงแล้ว ยังใช้ประกอบการร้องในลักษณะต่าง ๆ ตลอดเรื่อง ในบางครั้งออร์เคสตราจะบรรเลงโดยไม่มีผู้ร้อง เพื่อให้การร้องหรือเรซิเททีฟแต่ละตอนต่อเนื่องหรือสร้างอารมณ์ให้เข้มข้นขึ้น บางครั้งวงออร์เคสตราจะมีบทบาทมาก เช่น อุปรากรของวากเนอร์ มักจะเน้นการบรรเลงของวงออร์เคสตราเสมอ
  • 8. ระบำ (Dance) ในอุปรากรบางเรื่องอาจมีบางฉากที่มีการเต้นรำประกอบ โดยทั่วไปมักเป็นการแสดงบัลเลต์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นของคู่กันกับอุปรากรแบบฝรั่งเศส (French Opera) บางครั้งอาจจะเป็นระบำในลักษณะอื่น ๆ เช่น ระบำพื้นเมือง การเต้นรำแบบต่าง ๆ เช่น วอล์ทซ (Waltz) เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง
  • 9. องก์ และฉาก (Acts and Scenes) อุปรากรก็เช่นเดียวกับละครทั่ว ๆ ไป มีการแบ่งเป็นองก์ และแบ่งย่อยลงไปเป็นฉาก เช่น คาร์เมน (Carmen) เป็นอุปรากร 4 องก์ เป็นต้น
  • 10. ไลท์โมทีฟ (Leitmotif) ในอุปรากรบางเรื่อง ผู้ประพันธ์จะมีแนวทำนองต่าง ๆ แทนตัวละครแต่ละตัว หรือแทนเหตุการณ์ สภาพการณ์ แนวทำนองเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดเวลาเพื่อแทนตัวละครหรือเหตุการณ์นั้น ๆ วากเนอร์เป็นผู้หนึ่งที่ชอบใช้ไลท์โมทีฟ เช่น Ring motive ในอุปรากรชุด The Ring และ Love motive จากอุปรากรเรื่อง Tristan and Isolde