ประวัติ ของ อุ๋ยซี

สถูปที่สร้างอุทิศให้นางอุ๋ยซี หรือ หวงเยฺว่อิง ปัจจุบันตั้งอยู่ในวัดจ้าวแห่งอู๋ ทุ่งอู๋จังหยวน

นอกจากในสามก๊กฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แล้ว มีการกล่าวถึงนางอุ๋ยซีในอีกแง่หนึ่งซึ่งแตกต่างออกไป โดยบางที่มาอ้างอิงถึงนางอุ๋ยซีว่านางมีนามเต็มว่า หวงเยฺว่อิง (黄月英) ซึ่งชื่อของนางที่อุยสิง่านเป็นผู้ตั้งให้นั้น แปลว่า จันทร์กระจ่าง หมายถึงสติปัญญาอันฉลาดเฉลียวจนเกินยิ่งกว่าหญิงใดๆ ในวัยเดียวกันนั้นเอง ลักษณะของอุ๋ยซีนั้นมิได้อัปลักษณ์จนเกินงามมากนัก เพียงแต่มีสีผิวที่เหลืองเข้มมากจนค่อนไปทางดำคล้ำเท่านั้น ทว่าสิ่งที่จูกัดเหลียงมองเห็นในตัวของอุ๋ยซีนั้น คือความงามจากภายใน การเจรจาพาทีที่สามารถชักจูงให้ผู้คนคล้อยตามโดยง่าย ความรอบรู้ฉลาดเฉลียว ทำให้นางงามล้ำโดดเด่นยิ่งกว่าหญิงใดๆ นอกจากการเจรจาพาทีอันชาญฉลาด อุ๋ยซียังมีความชำนาญในการเรียนรู้และถ่ายทอดอีกด้วย นางได้พัฒนาพาหนะที่จูกัดเหลียงประดิษฐ์ขึ้น และส่งต่อวิทยาการนั้นสู่อนุชนรุ่นหลังจนกลายเป็นที่กล่าวขานในเกงจิ๋วสืบมาจนปัจจุบัน

นอกจากชื่อเดิมของนางแล้ว อุ๋ยซี หรือหวงเยฺว่อิง ยังมีอีกชื่อหนึ่ง คือ หวงว่าน อันหมายถึงผู้มีปัญญาอันล้ำเลิศ ความฉลาดเฉลียวของนางไม่ได้ด้อยไปกว่าบิดาอุยสิง่าน และเสอปิ่งผู้เป็นพี่ชายเลย ในบทประพันธ์ของหลอกว้านจงมีการกล่าวถึงนางอีกด้วย รวมทั้งชื่อของนางยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นสตรีผู้มีความสามารถสูงส่งแห่งยุค ส่วนที่มีการกล่าวว่านางเป็นสตรีที่อัปลักษณ์ ผมเหลือง ผิวดำนั้น มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการกล่าวให้ร้ายจากผู้ที่ริษยาในความเก่งกาจสามารถผิดจากหญิงใดๆ ในยุคเดียวกันมากกว่า ซึ่งก็น่าจะมีส่วน เพราะสตรีจีนที่มีความเก่งกาจโดดเด่น ส่วนใหญ่มักถูกพาดพิงถึงในแง่ลบอยู่เสมอ

นอกจากความสามารถในด้านต่างๆ แล้ว อุ๋ยซียังเป็นที่ปรึกษาที่ดีของจูกัดเหลียง นางมักจะเศร้าโศกไปด้วยทุกครั้งที่จูกัดเหลียงกลัดกลุ้มใจ นางมีความปรารถนาดีต่อจูกัดเหลียงอย่างลึกซึ้ง นอกจากจะเป็นภรรยาที่ดีแล้ว อุ๋ยซียังเป็นแม่ที่ดีอีกด้วย เรื่องราวที่เล่าขานเกี่ยวกับความรักระหว่างอุ๋ยซีและจูกัดเหลียงนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่งดงามที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า หลังจากจูกัดเหลียงตายจากไปแล้ว อุ๋ยซีได้ตรอมใจและตายตามไปในเวลาไม่นาน เรื่องของอุ๋ยซีจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกล่าวถึงความภักดี และความกตัญญู ที่คนรุ่นหลังควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง[2]