อูฐสองหนอกป่า
อูฐสองหนอกป่า

อูฐสองหนอกป่า

อูฐสองหนอกป่า หรือ อูฐแบคเตรียป่า (อังกฤษ: Wild bactrian camel; ชื่อวิทยาศาสตร์: Camelus ferus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายคลึงกับอูฐสองหนอก (C. bactrianus) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์[2]อูฐสองหนอกป่า เป็นอูฐสองหนอกที่เป็นสัตว์ป่า และถือเป็นต้นสายพันธุ์ของอูฐสองหนอกในปัจจุบัน มีสองหนอกเพื่อใช้ในการเก็บไขมันเป็นพลังงานสำรองเป็นอูฐทั่วไป โดยไม่ได้ใช้เก็บน้ำได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ทนทรหดมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดแล้วชนิดหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่พบกระจายพันธุ์เฉพาะในทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศจีนและมองโกเลีย เช่น ทะเลทรายโกบี, ทะเลทรายทากลามากัน และบางส่วนในคาซัคสถาน (และพบได้ตลอดฝั่งแม่น้ำในไซบีเรีย โดยมีการอพยพข้ามน้ำ[3]) ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ มีอุณหภูมิต่างกันสุดขั้ว โดยในช่วงเวลากลางวันอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 40-50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ช่วงกลางคืนในฤดูหนาวอาจมีอุณหภูมิถึง -40 หรือ -50 องศาเซลเซียสได้[4] แต่อูฐสองหนอกป่าสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยกินเพียง พืชขนาดเล็ก ๆ ตามพื้นดิน และกินน้ำจากแหล่งน้ำที่เป็นน้ำเค็มจนเป็นเกล็ดเกลือกลางทะเลทราย เช่น ทะเลสาบลอปนอร์ได้ มีขนตายาว 2 ชั้นเพื่อป้องกันดวงตาจากฝุ่นทราย กีบเท้ามี 2 กีบแยกกันชัดเจนเวลาเมื่อเดิน เพื่อใช้สำหรับรับน้ำหนักบนพื้นทราย อูฐสองหนอกป่าสามารถนอนหลับในชั้นหิมะหนา ๆ ได้ในฤดูหนาว จัดเป็นอูฐที่ทนทรหดกว่าอูฐหนอกเดียว ที่พบในภูมิภาคอาหรับมากอูฐสองหนอกป่า เป็นสัตว์ที่หากินเพียงลำพังตัวเดียวหรือเป็นฝูงเล็ก ๆ เป็นสัตว์ที่หาได้ยากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก จนได้ชื่อว่า "อูฐผี"[4] โดยถือว่าหายากกว่าแพนด้ายักษ์ คาดว่ามีเพียงไม่เกิน 2,000 ตัวเท่านั้นในโลก โดยพบในจีนประมาณ 600 ตัว และในมองโกเลียราว 300-350 ตัวเท่านั้น ในฤดูผสมพันธุ์ คือ ฤดูใบไม้ร่วงจะมารวมตัวกันนับร้อยตัว แต่ในฤดูใบไม้ผลิจะแยกย้ายกันอยู่ โดยในพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตรอาจได้เพียง 5 ตัวเท่านั้น อูฐสองหนอกป่าเป็นสัตว์ที่ขี้อายมาก วิ่งได้เร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถมองเห็นสิ่งที่ปรากฏบนเส้นขอบฟ้าได้ไกลถึง 20 กิโลเมตร[4]จากการศึกษาทางพันธุกรรม พบว่าทั่วทั้งทวีปเอเชีย มีอูฐสองหนอกซึ่งเป็นสายพันธุ์แท้ ๆ ของอูฐสองหนอกป่าเพียง 30 ตัวเท่านั้น โดยผลการศึกษาพบว่าอูฐสองหนอกในปัจจุบันนั้นมีสายพันธุกรรมที่แตกต่างจากอูฐสองหนอกป่า[5]