อิทธิพล ของ อ็องรี_มาติส

ต่อมาในปี ค.ศ.1897 มาติสเริ่มต้นศึกษาแนวคิดของศิลปินสมัยลัทธิประทับใจ ปอล เซซานเป็นศิลปินที่อิทธิพลต่อมาติสอย่างมาก โดยเขายกย่องว่าผลงานของเซซานมีความโดดเด่นโดยเฉพาะเรื่องของการใช้สี ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดมวลปริมาตรที่มีความหนาแน่น โดยมาติสได้เขียนไว้ในบันทึกใจความว่า “ผลงานของเซซานอยู่บนรากฐานในพลังของเส้นและสี” นอกจากเซซานแล้ว ยังมีศิลปินกลุ่มอื่นที่เขาให้ความสนใจได้แก่ กลุ่มลัทธิประทับใจใหม่ ศิลปินคนสำคัญในยุคนี้เช่น ปอล โกแก็ง และปอล ซีญัก มาติสกล่าวว่า “กลุ่มนีโอ-ลัทธิประทับใจในกรรมวิธีการแต้มสีเป็นจุด เท่ากับเป็นการทำลายเอกภาพของสี เขาต้องการสร้างงานศิลปะให้มีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ดูนิ่งเหมือนพวกลัทธิประทับใจได้กระทำ และไม่ได้เป็นเครื่องบันทึกธรรมชาติที่ผ่านไปเฉย ๆ ดังเช่นที่ศิลปินลัทธิประทับใจทำ” บันทึกที่กล่าวมาล้วนอยู่ในบทความเรื่อง ‘คำให้การของจิตรกร’ ซึ่งมาติสตีพิมพ์ในวารสารเลอกรังค์รีวิวเมื่อปี ค.ศ.1908

ภายหลังในปี ค.ศ.1899 มาติสได้พบเดอแร็งและวลาแม็งก์ ซึ่งเป็นศิลปินที่นำไปสู่การเกิดกลุ่มคติโฟวิสต์ในเวลาต่อมา อีกทั้งมาติสยังได้สร้างงานและเปิดเผยแพร่ข้อมูลในบันทึกเกี่ยวกับศิลปะออกมาทำให้ศิลปินรุ่นต่อมาต่างรู้สึกว่าพวกศิลปินรุ่นเก่าในอดีตและศิลปินสมัยใหม่บางพวก เช่น พวกสัญลักษณ์นิยมนั้นต่างปิดบังคุณค่าอันบริสุทธิ์ของภาพไว้ทำให้พวกเขาไม่ยอมรับในเรื่องการใช้สีที่ดูลี้ลับแต่เพียงอย่างเดียวของพวกลัทธิสัญลักษณ์นิยมเริ่มเสื่อมลง ขณะเดียวกันการใช้สีในภาพวาดขนาดเล็กของเปอร์เซียและลายผ้าของอียิปต์โบราณได้เข้ามามีบทบาทต่อความคิดของมาติสและกลุ่มคติโฟวิสต์ โดยกล่าวว่า รูปแบบที่เหมือนตามธรรมชาติจะต้องเปลี่ยนรูปไป แสงจะต้องไม่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ แต่ต้องแสดงออกให้เห็นถึงความรู้สึกของสี และมีความงดงามคล้ายศิลปะการตกแต่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายของมาติสและศิลปินกลุ่มคติโฟวิสต์