การทำงานในยุคหลัง ของ เกษม_จาติกวณิช

ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ชื่อของ เกษม จาติกวณิช ที่หายไปช่วงหนึ่ง ได้กลับมาสู่กระแสข่าวอีกครั้งเมื่อ ได้ตอบรับคำเชิญของ นายคีรี กาญจนพาสน์ ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในวัย 67 ปี

นายเกษมต้องรับภาระนำพา BTSC ฝ่ามรสุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ กรณีการใช้พื้นที่บริเวณสีลมเป็นอู่จอดรถ ที่ขยายตัวลุกลาม กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างความล่าช้าให้กับโครงการ และการต้องรับมือกับ เหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการในขณะนั้น ทั้ง ร้อยเอกเฉลิม อยู่บำรุง, พล.ต.ท สล้าง บุนนาค, นายบุญชู โรจนเสถียร และ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช (คุณหญิงชดช้อย อยากให้สร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน)

ระยะเวลาที่ยืดเยื้อเกินกำหนดของโครงการ และระยะทางที่ต้องสร้างเพิ่มขึ้นเกินกว่าแผนเดิม ได้สร้างปัญหาทางการเงินให้กับ BTSC อย่างใหญ่หลวง ซึ่งนายเกษมในฐานะที่เคยเจรจากับ ธนาคารโลก เพื่อขอกู้เงิน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาสร้างเขื่อนภูมิพลในอดีต สามารถทำให้ ธนาคารโลก ยอมอนุมัติเงินกู้ ให้กับโครงการรถไฟฟ้า BTS อีกทั้งยอมเข้าร่วมลงทุนในโครงการ โดยที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนในการช่วยค้ำประกันใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นปัจจัยให้ โครงการรถไฟฟ้าสายแรกของไทย สามารถเปิดให้บริการต่อสาธารณะได้สำเร็จ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชน ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มาจนถึงปัจจุบัน