ประวัติ ของ เกษรอัมรินทร์

การพัฒนา

เกษรอัมรินทร์ เป็นทรัพย์สินแห่งแรกของบริษัท อัมรินทร์พลาซ่า จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ถือเป็นการร่วมลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรกของครอบครัวว่องกุศลกิจ ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมน้ำตาลผ่านกลุ่มมิตรผล อิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ หลังจากได้รับข้อเสนอจากตระกูลศรีวิกรม์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และได้ร่วมมือกับตระกูลวัฒนาเวคิน เพื่อก่อตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งในอีกหกปีต่อมา อิสระได้ให้วิฑูรย์พี่ชายของเขา ดูแลกิจการนี้แทนตน[1]

อาคารหลังนี้ออกแบบโดยรังสรรค์ ต่อสุวรรณ โดดเด่นด้วยการวางองค์ประกอบกรีก-โรมันเข้าด้วยกัน เช่น เสาไอออนิก ผ้าสักหลาด และบัวหัวเสา ร่วมกับผนังกระจกสมัยใหม่ รังสรรค์กล่าวว่าเขาไม่ได้มุ่งมั่นที่จะสร้างการออกแบบหลังสมัยใหม่ แต่ดัดแปลงตามสิ่งที่เขาคาดหวังจะดึงดูดรสนิยมของผู้เช่า แม้กระนั้นเจ้าของโครงการบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการออกแบบดังกล่าว แต่เขายืนกรานโดยรับประกันว่าจะมีผู้สนใจเช่าพื้นที่นี้ ไม่อย่างนั้นเขาจะเสียค่าปรับการก่อสร้างล่าช้าและยังต้องออกแบบใหม่โดยไม่ได้รับค่าจ้างอีกด้วย[2][3] โครงการขายได้ร้อยละ 80 ของยูนิตทั้งหมดก่อนเริ่มการก่อสร้าง การออกแบบอาคารกลายเป็นปรากฎการณ์ในหมู่สถาปนิกและนักพัฒนาชาวไทย หลังจากนั้นมีการการนำเอาองค์ประกอบกรีก-โรมันในลักษณะเดียวกับโครงการนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม การออกแบบนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแวดวงสถาปนิกว่าเป็นการใช้องค์ประกอบคลาสสิกอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในบริบทสิ่งก่อสร้างของไทยในเวลานั้น[3][4]

การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2526 แต่ในช่วงแรกประสบปัญหากับระบบเสาเข็ม ทำให้เจ้าของเปลี่ยนจากเสาเข็มเจาะคอนกรีตเป็นระบบเจาะ ทำให้ความคืบหน้าล่าช้าไปมากเนื่องจากโครงสร้างของดิน และการก่อสร้างได้เปลี่ยนไปใช้เสาเข็มเจาะเหล็กอีกครั้ง ซึ่งประสบปัญหามากขึ้นไปอีก เนื่องจากการก่อสร้างต้องหยุดชะงักตามคำสั่งศาลที่โรงแรมเอราวัณได้ฟ้องร้องเรื่องมลพิษทางเสียง แม้จะมีปัญหาข้างต้น แต่การชำระเงินล่วงหน้าของโครงการทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน และสามารถลดเงินกู้จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเริ่มแรกประมาณ 270 ล้านบาท เป็นน้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า อันเปิดทำการเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น

การดำเนินงาน

เกษรอัมรินทร์ (ซ้าย) เชื่อมต่อกับโรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ (ขวา) โครงการทั้งสองได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มเอราวัณและออกแบบโดยรังสรรค์

เกษรอัมรินทร์เปิดทำการในปี พ.ศ. 2528 โดยมีห้างสรรพสินค้าโซโก้ เป็นผู้เช่าหลัก ซึ่งเป็นสาขาต่างประเทศแห่งแรกของบริษัทเครือญี่ปุ่นดังกล่าว ในเวลาเดียวกันศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ที่อยู่ใกล้เคียง ได้เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าโตคิวด้วย อัมรินทร์พลาซ่ายังเคยเป็นที่ตั้งของแมคโดนัลด์สาขาแรกในประเทศไทย ซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคาร โดยร้านเปิดทำการในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน[5]

"โซโก้" กลายเป็นชื่อที่ผู้คนพูดถึงอาคารแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนักในช่วงสองสามปีแรก เนื่องจากจำนวนห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งเปิดใหม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง โซโก้เปิดสาขาที่สองในศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก ซึ่งเป็นโครงการในเครือเดียวกัน แต่ปิดตัวลงไม่นานหลังจากที่บริษัทแม่ในญี่ปุ่นลดขนาดการดำเนินงานระหว่างประเทศลงในปี พ.ศ. 2543[6]

เกษรอัมรินทร์ในปี พ.ศ. 2548

ในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มบริษัทเอราวัณได้ขายอัมรินทร์พลาซ่าให้กับกลุ่มเกษรเจ้าของที่ดิน (ซึ่งดำเนินการศูนย์การค้าเกษรพลาซ่าอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน) เนื่องจากใกล้จะสิ้นสุดสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปีของทรัพย์สินซึ่งมีโอกาสในการปรับปรุงอย่างจำกัด โครงการนี้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเกษรวิลเลจในอีกสิบปีให้หลัง[7] ต่อมาได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ระหว่างปี 2565 ถึง 2567 และดำเนินการเปิดอีกครั้งในชื่อเกษรอัมรินทร์[8] โดยใช้แนวคิดผสมผสานสถาปัตยกรรมเดิมเข้ากับการใช้ชีวิตยุคใหม่[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เกษรอัมรินทร์ https://themomentum.co/successful-opinion-rangsan-... https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/art... https://www.worldcat.org/issn/2651-1738 https://thanong.tripod.com/07102000.htm https://www.bangkokpost.com/business/1323211/gayso... https://www.bangkokpost.com/property/2554726/gayso... https://readthecloud.co/gaysorn-amarin/ https://www.travelfish.org/sight_profile/thailand/... https://www.hotels.com/go/thailand/amarin-plaza https://www.lifestyleasia.com/bk/whats-on/news-wha...