ชีวิตหลังเผยแพร่ผลงาน ของ เกออร์ค_ซีม็อน_โอห์ม

ผลงานของโอห์มได้รับการเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1827 แต่ปรากฏว่าแทนที่ผลงานของเขาจะได้รับการยกย่อง กลับถูกต่อต้านเป็นอย่างมากจากชาวเยอรมันเนื่องจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำให้ในระหว่างนี้โอห์มได้รับความลำบาก เพราะรัฐมนตรีการศึกษาของเยอรมนีได้พิจารณาว่า เขามีความรู้ขั้นปริญญาเอกแต่ผลิตผลงานที่ไม่มีประโยชน์แก่การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย จะนับได้ว่าเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โชคร้ายที่สุดในรอบคริสต์ศวรรษที่ 18

เมื่อถูกไล่ออกจากงาน โอห์มจึงไปสมัครเป็นอาจารย์ช่วยสอนอยู่ตามโรงเรียน แต่ก็ยังถูกโจมตีอย่างรุนแรง เขาต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากอยู่เป็นเวลานานถึง 6 ปีเต็ม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1833 พระเจ้าลูทวิชที่ 1 แห่งบาวาเรีย ซึ่งเห็นความสามารถของโอห์มได้ช่วยเหลือให้เขาได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนสารพัดช่างเนือร์นแบร์ค เขาได้ทำงานอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1849 ถึงแม้ในระหว่างปี ค.ศ. 1835 เขาจะได้รับเชิญไปดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าในมหาวิทยาลัยเดิมที่แอร์ลังเงิน โอห์มไม่คิดจะหวนกลับไปอีก เพราะทนในความอับอายไม่ได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1849 นั้นเอง โอห์มก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก และโอห์มได้ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จนตลอดชีวิตของเขา

ในขณะที่เขาทำงานอยู่ที่เนือร์นแบร์คหรือมิวนิก นอกจากนี้จะทำงานด้านการสอนหนักแล้ว โอห์มยังทำงานด้านการค้นคว้าทดลองและพิมพ์ผลงานออกเผยแพร่อยู่เสมอ ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของโอห์มก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการควบคุมเสียงในอาคารให้สามารถฟังได้ชัดเจน และเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นการบุกเบิกทางให้แก่นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ แฮร์มัน ฟ็อน เฮ็ล์มฮ็อลทซ์ ที่ค้นพบเกี่ยวกับเรื่องคลื่นเสียง นอกจากนี้โอห์มยังค้นคว้าเกี่ยวกับ Molecular Physics และผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขาจัดพิมพ์ขึ้นที่มิวนิก เมื่อ ค.ศ. 1852 และเมื่อ ค.ศ. 1853 คือการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องแสงที่เกิดขึ้นแถบขั้วโลก ที่เรียกกันว่าแสงเหนือและแสงใต้ แต่โอห์มก็ได้พบกับความโชคร้ายอีกเช่นเคย เพราะโอห์มไม่ทราบมาก่อนเลยว่าผลงานชิ้นนี้ของเขา มีนักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ที่ชื่อว่า คริสเตียน บีร์เคอลัน (Kristian Birkeland) เป็นผู้ค้นพบก่อน ผลงานของโอห์มชิ้นนี้จึงไม่ได้รับความสนใจ

แม้ว่าโอห์มจะไม่ได้รับการยกย่องในบ้านเกิดเมืองนอนของเขา แต่ผลงานของโอห์มกลับได้รับความยกย่องในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่นในฝรั่งเศสและอังกฤษ ในประเทศฝรั่งเศสถึงกับมีการสาธิตผลงานเรื่องกฎของโอห์มตั้งแต่ ค.ศ. 1831 ถึง ค.ศ. 1837 ส่วนในอังกฤษ ราชสมาคมแห่งลอนดอนได้มอบเหรียญรางวัลค็อปลีย์ (Copley Medal) ให้แก่เขาในปี ค.ศ. 1841 ในฐานะที่เขาเป็นคนแรกที่ค้นพบกฎซึ่งมีสาระสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาไฟฟ้ากระแส และในปี ค.ศ. 1842 โอห์มก็รับเกียรติยศอันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะทางราชสมาคมแห่งลอนดอนได้คัดเลือกให้โอห์มเป็นสมาชิกชาวต่างประเทศที่มีความสามารถดีเด่นที่สุด

ใกล้เคียง

เกออร์กี มาเลนคอฟ เกออร์กี จูคอฟ เกออร์ค ซีม็อน โอห์ม เกออร์ค ฟรีดริช เจ้าชายแห่งปรัสเซีย เกออร์กี ลวอฟ เกออร์กี กาปอน เกออร์ค วิลเฮ็ล์ม ฟรีดริช เฮเกิล เกออร์ค คันทอร์ เกออร์ค วิททิช เกออร์กีนา ฟ็อน วิลเช็ค