ประวัติ ของ เกาะดอนแท่น

ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ มีชื่อ เกาะหลวง ซึ่งเชื่อว่าคือเกาะดอนแท่น กล่าวถึงเจ้ามหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์มาเมืองเชียงราย เพื่อทำเลียนแบบ จากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มายังเมืองเชียงแสน เพื่อกระทำพิธีสวดพุทธาภิเษกที่เกาะดอนแท่น ยังระบุว่ามีพระมหาเถระหลายองค์ได้มากระทำพิธีอุปสมบทให้แก่กุลบุตรหลายครั้งในระหว่างรัชสมัยพญาคำฟู (พ.ศ. 1881–1888) และพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2038–2068)

พงศาวดารฉบับราษฎร์พื้นเชียงแสน มีการกล่าวถึงการสร้างวัดพระแก้ว วัดพระคำ เมื่อ พ.ศ. 1925 ความว่า "เมื่อ พ.ศ.1929 พระมหาเถรสิริวังโส นำพระพุทธรูปชื่อพระแก้ว กับพระคำ เข้ามายังเชียงแสน เมื่อพบภูมิประเทศที่ดอนแท่น (กลางแม่น้ำโขง) ก็พอใจ ขออนุญาตจากมหาเทวี สร้างวิหารวัดพระคำไว้ด้านเหนือ วิหารวัดพระแก้วไว้ด้านใต้"[1]

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ระบุว่าเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนมักจะมากระทำพิธีทางพุทธศาสนา มาสักการะเจ้าผู้ครองเมืองตามโบราณราชประเพณีบนเกาะแห่งนี้ การสถาปนาวัดต่างๆ หลายวัดบนเกาะดอนแท่น เช่นระบุว่า พระมหาเถรเจ้าศิริวังโสได้นำพระพุทธรูปมา 2 องค์ จึงได้สร้างวัดพระแก้ว และวัดพระคำบนเกาะดอนแท่น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ เมื่อ พ.ศ. 1930 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1929-1944) และวัดที่สร้างขึ้นบนเกาะดอนแท่นมีจำนวน 10 วัด ปรากฎชื่อวัดพระทองทิพ

ใน พงศาวดารโยนก เรียกเกาะดอนแท่นว่า เกาะดอนแท่น เกาะบันลังตระการ หรือ ปักลังกทิปะกะ กล่าวว่าเกาะแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในการทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธสิหิงค์และบวชกุลบุตร เช่นเดียวกับที่กล่าวอ้างในชินกาลมาลีปกรณ์ มีพระราชวังซึ่งพญาแสนภูทรงสร้างอยู่ทางทิศเหนือของเกาะ ซึ่งปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเชียงแสน ที่ทำการอำเภอเชียงแสน และอาจจะอีกบางส่วนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) พญาแสนภูประทับอยู่ในพระราชวังบนเกาะดอนแท่นจนสวรรคต และตั้งพระบรมศพบนเกาะดอนแท่นระยะหนึ่ง[2]

บ้างสันนิษฐานว่าเกาะนี้น่าจะถล่มจมลงในแม่น้ำโขงก่อน พ.ศ. 2347 อันเป็นช่วงที่เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่องสุมกำลังพลของทหารพม่า

จากข้อมูลการสัมภาษณ์คนท้องถิ่น ณ พ.ศ. 2540 เกาะมีความกว้างสุดประมาณ 40 เมตร ความยาวประมาณ 600 เมตร สภาพเป็นเนินทราย มีต้นไม้ขึ้นใหญ่น้อย เช่น ต้นงิ้วและต้นไคร้ ทางด้านเหนือและบริเวณที่คอดเกือบส่วนปลายของเกาะจะเป็นชายหาดที่ถูกกัดเซาะ จนเหลือแต่หินกรวดเต็มไปหมด บริเวณหัวเกาะส่วนที่คอดด้านตะวันออกจะมีน้ำวน และบริเวณหัวเกาะส่วนที่คอดด้านทิศตะวันตกจะเป็นคุ้งน้ำ ในฤดูแล้งชาวเชียงแสนจะนำวัวควายมาเลี้ยงบนเกาะนี้

ภายหลังเนินทรายบนเกาะค่อย ๆ หายไปจากการที่มีการขุดดินเพื่อร่อนหาทอง รวมถึงการกัดเซาะของแม่น้ำโขง จากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 และข้อมูลแผนที่ในเขตประเทศไทยรวบรวมถึง พ.ศ. 2532 ก็ไม่ปรากฏเกาะนี้แล้ว