ประวัติศาสตร์ ของ เกาะแคโรไลน์

ก่อนประวัติศาสตร์

เชื่อว่าเกาะแคโรไลน์กำเนิดจากจุดร้อนภูเขาไฟที่ถูกกัดกร่อนและกลายเป็นที่อยู่ของแนวปะการังและค่อย ๆ เติบโตขึ้นเหนือผิวมหาสมุทร แม้ยังเข้าใจกระบวนการทางธรณีวิทยานี้เพียงเล็กน้อย แต่การวางตัวของหมู่เกาะไลน์ (ประมาณจากเหนือไปใต้) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเกาะเหล่านี้น่าจะกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ล้านปีมาแล้ว ก่อนที่แผ่นแปซิฟิกจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัว และจุดร้อนเดียวกันนี้ยังก่อให้เกิดกลุ่มเกาะตูอาโมตูอีกด้วย[12]

มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวพอลินีเชียบนเกาะเล็กใหญ่ ๆ ก่อนมีการติดต่อกับชาวยุโรป[4] คณะสำรวจเกาะนี้ยุคแรก ๆ ค้นพบสุสานและลานแผ่นแบบและมีมาราเอ (marae) ซึ่งเป็นลานชุมชนและลานศักดิ์สิทธิ์ บนฝั่งตะวันตกของเนกไอลิต ตราบจนปัจจุบัน นักโบราณคดียังไม่ได้สำรวจสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้

การพบและบันทึกแรก ๆ

คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสและอเมริกันบรรจบกัน ณ เกาะแคโรไลน์ในเดือนพฤษภาคม 2426 เพื่อสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่กินเวลานานผิดปกติ สมาชิกคณะสำรวจผู้หนึ่งวาดภาพนี้

เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน อาจพบเกาะแคโรไลน์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2064[13][14]

บันทึกการเห็นเกาะแคโรไลน์ต่อมาของชาวยุโรปคือ บันทึกของเปดรู ฟือร์นังดึช ดือ ไกรอช นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่ล่องเรือในนามของสเปน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2149 บันทึกของเขาเรียกเกาะนี้ว่า "ซานเบร์นาร์โด" (San Bernardo)[4] ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2338 กัปตันวิลเลียม รอเบิร์ต บรอตัน แห่งเรือหลวง พรอวิเดนซ์ ค้นพบเกาะนี้และตั้งชื่อเกาะว่าแคโรไลนา (ต่อมาเป็นแคโรไลน์) เพื่อยกย่องธิดาของเซอร์เซอร์ฟิลิป สตีเวนส์ แห่งกระทรวงทหารเรือ[4] ต่อมาเรือล่าปลาวาฬสัญชาติอังกฤษ ซะพลาย พบเกาะนี้อีกครั้งใน พ.ศ. 2364 และตั้งชื่อว่า "เกาะธอนตัน" ตามชื่อกัปตันเรือ เกาะแห่งนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น "เกาะเฮิสต์" (Hirst Island) "เกาะคลาร์ก" (Clark Island) และ "เกาะอินดิเพนเดนซ์" (Independence Island) การเดินทางถึงครั้งแรก ๆ ซึ่งมีบันทึกเกี่ยวกับเกาะ คือ การเดินทางของยูเอสเอส ดอลฟิน ใน พ.ศ. 2368 (ร้อยโท ไฮรัม พอลดิง เป็นผู้บันทึก) และเรือล่าวาฬใน พ.ศ. 2378 (เฟรเดอริก ดีเบลล์ เบนเนตต์ บันทึกในหนังสือ คำบรรยายของการล่องเรือล่าปลาวาฬรอบโลกระหว่างปี ค.ศ. 1833–1836 (Narrative of a Whaling Voyage Round the Globe From the Year 1833–1836)

พ.ศ. 2389 คอลลีและลูเซ็ตต์ บริษัทสัญชาติตาฮีตี พยายามสร้างชุมชนเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกมะพร้าวขนาดเล็กบนเกาะ ซึ่งประสบความสำเร็จทางการเงินจำกัด ส่วนใน พ.ศ. 2411 เรือหลวง เรนเดีย ของบริเตนอ้างสิทธิเหนือแคโรไลน์ ซึ่งบันทึกผู้อยู่อาศัย 27 คนในนิคมแห่งหนึ่งบนเซาท์ไอลิต เมื่อ พ.ศ. 2415 รัฐบาลบริติชให้เช่าเกาะนี้แก่บริษัทโฮลเดอร์บราเธอส์ จำกัด โดยมีจอห์น ที. แอรันเดล เป็นผู้จัดการ (เป็นชื่อชื่อเกาะเล็กเกาะหนึ่งด้วย)[6] จอห์น ที. แอรันเดลและคณะรับสัญญาเช่าใน พ.ศ. 2424 จนใน พ.ศ. 2428 แอรันเดลตั้งไร่ใหญ่มะพร้าว แต่ต้นมะพร้าวติดโรคและไร่ใหญ่ล้มเหลวไป[4] อีกทั้งบริษัทโฮลเดอร์บราเธอส์ จำกัด ที่มีแอรันเดลเป็นผู้จัดการนั้น ยังทำฟาร์มปุ๋ยขี้นกใน พ.ศ. 2417 ด้วย โดยพบฟอสเฟตกว่า 10,000 ตัน จนหมดไปจากเกาะในราว พ.ศ. 2438[4] นิคมบนเกาะอยู่จนกระทั่ง พ.ศ. 2447 ชาวพอลินีเชีย 6 คนสุดท้ายย้ายออกจากเกาะนี้ไปนีวเว[4]

คณะสำรวจนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเดินทางจากเปรูมาเกาะแคโรไลน์ด้วยเรือยูเอสเอส ฮาร์ตเฟิร์ด เพื่อมาชมสุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสก็สังเกตสุริยุปราคาจากเกาะแคโรไลน์เช่นกัน และกองทัพเรือสหรัฐทำแผนที่เกาะ[6] โยฮันน์ พาลีซา สมาชิกคณะสำรวจคนหนึ่ง ค้นพบดาวเคราะห์น้อยในปีเดียวกันซึ่งเขาตั้งชื่อว่า แคโรไลนา เพื่อรำลึกถึงการเยือนเกาะแคโรไลน์[15]

คริสต์ศตวรรษที่ 20

เอส.อาร์. แมกซ์เวลล์แอนด์คอมปานีเช่าเกาะนี้และตั้งถิ่นฐานใหม่ใน พ.ศ. 2459 ครั้งนี้สร้างขึ้นเพื่อส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้งโดยเฉพาะ มีการถางป่าอย่างกว้างขวางในเซาท์ไอลิตเพื่อปลูกต้นมะพร้าวซึ่งไม่ใช่พืชท้องถิ่น[4] ทว่า การลงทุนธุรกิจนี้ประสบหนี้สิน และนิคมของอเกาะเริ่มมีประชากรลดลง เมื่อ พ.ศ. 2469 เหลือผู้อยู่อาศัยเพียง 10 คน และใน พ.ศ. 2479 นิคมเหลือครอบครัวชาวตาฮิตีเพียง 2 ครอบครัวก่อนย้ายออกไปในปลายคริสต์ทศวรรษ 1930[6]

เกาะแคโรไลน์ไม่มีคนอาศัยและไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ตลอดสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากนั้น เกาะยังอยู่ภายใต้เขตอำนาจของบริเตน ซึ่งข้าหลวงใหญ่แปซิฟิกตะวันออกของบริเตนเข้าควบคุมอีกครั้งใน พ.ศ. 2486 และปกครองโดยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเซ็นทรัลและเซาเทิร์นไลน์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 หมู่เกาะเซ็นทรัลและเซาเทิร์นไลน์รวมทั้งเกาะแคโรไลน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมหมู่เกาะกิลเบิร์ตและเอลลิส ซึ่งได้อัตตาณัติใน พ.ศ. 2514 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปลดปล่อยอาณานิคมของบริเตน[16]

พ.ศ. 2522 หมู่เกาะกิลเบิร์ตกลายเป็นรัฐเอกราชคิริบาส หมู่เกาะแคโรไลน์เป็นจุดตะวันออกสุดของคิริบาส ทั้งเกาะมีรัฐบาลสาธารณรัฐคิริบาสเป็นเจ้าของ มีกระทรวงกลุ่มไลน์และฟีนิกซ์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่บนคิริสมาสเป็นผู้ดูแล สหรัฐสละการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะของสหรัฐ (ภายใต้รัฐบัญญัติหมู่เกาะปุ๋ยขี้นก) ในสนธิสัญญาตาราวาใน พ.ศ. 2522 และวุฒิสภาสหรัฐให้สัตยาบันใน พ.ศ. 2526[17]

เกาะนี้มีคนอาศัยอีกช่วงสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2534 โดยรอน ฟอลคอเนอร์ และแอน ภรรยา พร้อมลูก 2 คนซึ่งพัฒนานิคมพึ่งพาตนเองเป็นส่วนใหญ่บนเกาะ หลังการโอนความเป็นเจ้าของ ฟอลคอเนอร์ถูกรัฐบาลคิริบาสฟ้องขับไล่ออกจากเกาะ หนังสือ ทูเกเธอร์อะโลน (ISBN 1-86325-428-5) ซึ่งฟอลคอเนอร์เขียน บันทึกนิยายการพำนักของพวกเขาบนเกาะแคโรไลน์[18]

มีการให้เช่าเกาะแก่อูรีมา เฟลิกซ์ ผู้ประกอบการชาวเฟรนช์พอลินีเชีย ในคริสต์ทศวรรษ 1990 เขาสร้างที่อยู่อาศัยเล็ก ๆ บนเกาะเล็กเกาะหนึ่งและมีรายงานว่าวางแผนพัฒนาเกาะ เกาะยังมีผู้เก็บเกี่ยวมะพร้าวแห้งชาวพอลินีเซียเวียนมาเป็นบางครั้งภายใต้ความตกลงกับรัฐบาลคิริบาสในตาราวา[10]

การเปลี่ยนเส้นแบ่งเขตวัน

หลังมีการปรับแนวเขตเวลาเมื่อปี 2538 ทำให้เกาะแคโรไลน์ (จุดสีแดงในแผนที่) เป็นดินแดนตะวันออกสุดที่อยู่เส้นแบ่งเขตวันสากลฝั่งตะวันตก

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ประเทศคิริบาสประกาศเปลี่ยนเขตเวลาของหมู่เกาะไลน์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2537 การเปลี่ยนเขตเวลานี้เลื่อนเส้นแบ่งเขตวันสากลไปทางทิศตะวันออก 1,000 กิโลเมตรในคิริบาส โดยวางคิริบาสทั้งหมดอยู่ในฝั่งตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวัน แม้ข้อเท็จจริงว่าลองจิจูด 150 องศาตะวันตกซึ่งตรงกับเวลา UTC−10 แทนเขตเวลาอย่างเป็นทางการ UTC+14 ปัจจุบันหมู่เกาะแคโรไลน์อยู่ในเขตเวลาเดียวกับหมู่เกาะฮาวาย (เขตเวลามาตรฐานฮาวาย–อะลูเชียน) แต่เร็วกว่า 1 วัน[19] การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกาะแคโรไลน์เป็นดินแดนตะวันออกสุดในเขตเวลาเร็วสุด (บางนิยามว่า เป็นจุดตะวันออกสุดบนโลก) และเป็นแผ่นดินจุดแรก ๆ ที่เห็นอาทิตย์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เมื่อ 5:43 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เหตุผลการย้ายที่แถลงไว้เป็นคำสัญญาระหว่างการรณรงค์ของเตบูโรโร ติโต (Teburoro Tito) อดีตประธานาธิบดีคิริบาส เพื่อขจัดความสับสนที่ประเทศคิริบาสทอดข้ามเส้นแบ่งเขตวัน ฉะนั้นจึงมีวันต่างกันสองวันเสมอ ทว่า ข้าราชการคิริบาสไม่ฝืนใจที่พยายามฉวยสถานภาพใหม่ของประเทศที่เป็นดินแดนแรกที่เห็นรุ่งอรุณใน พ.ศ. 2543[20] ประเทศแปซิฟิกอื่น รวมทั้งประเทศตองงาและหมู่เกาะแชทัมของนิวซีแลนด์ประท้วงการย้ายนี้ โดยคัดค้านว่าละเมิดการอ้างเป็นดินแดนแห่งแรกที่เห็นรุ่งเช้าใน พ.ศ. 2543[21]

ใน พ.ศ. 2542 เพื่อใช้ประโยชน์จากความสนใจของสาธารณะขนานใหญ่ต่อการเฉลิมฉลองการย่างเข้า พ.ศ. 2543 ยิ่งขึ้น จึงมีการเปลี่ยนชื่อเกาะแคโรไลน์เป็นเกาะมิลเลนเนียม แม้เป็นเกาะที่ไม่มีคนอาศัย แต่มีการจัดการเฉลิมฉลองพิเศษบนเกาะ มีการแสดงของวงการบันเทิงพื้นเมืองชาวคิริบาสและประธานาธิบดีติโตเข้าร่วมด้วย[22] มีนักร้องและนักเต้นชาวคิริบาสเดินทางจากเมืองหลวงกรุงตาราวา กว่า 70 คน[23] และมีนักข่าวประมาณ 25 คน มีการแพร่สัญญาณการเฉลิมฉลองครั้งนี้ผ่านดาวเทียมทั่วโลกและมีผู้ชมประมาณหนึ่งพันล้านคน[22]

แม้สื่อและรัฐบาลอ้าง แต่เกาะแคโรไลน์มิใช่แผ่นดินจุดแรกที่เห็นรุ่งอรุณของวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 ตามเวลาท้องถิ่น เกียรตินั้นเป็นของจุดของดินแดนระหว่างระหว่างธารน้ำแข็งดิบเบิล (Dibble Glacier) กับอ่าววิกตอร์ (Victor Bay) บนชายฝั่งแอนตาร์กติกาตะวันออก ณ พิกัด 66°03′S 135°53′E / 66.050°S 135.883°E / -66.050; 135.883 ซึ่งเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อน 35 นาที[24] เนื่องจากจุดนี้อยู่ใกล้วงกลมแอนตาร์กติก และพื้นที่ที่อยู่เลยวงกลมแอนตาร์กติกได้รับผลจากแสงอาทิตย์ตลอดเวลาในเดือนธันวาคม นิยามของจุดที่แน่ชัดจึงเป็นปัญหาการแยกแยะระหว่างดวงอาทิตย์ตกและดวงอาทิตย์ขึ้นทันทีในมุมมองของผลการหักเหบรรยากาศ

คริสต์ศตวรรษที่ 21 และอนาคต

เกาะแคโรไลน์อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 6 เมตร จึงจะเป็นอันตรายหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น รัฐบาลคิริบาสประเมินว่า น้ำทะเลอาจท่วมเกาะใน พ.ศ. 2568[23] สหประชาชาติจัดให้เกาะแคโรไลน์อยู่ในกลุ่มเกาะที่อยู่ในอันตรายมากที่สุดจากการเพิ่มของระดับน้ำทะเล[25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เกาะแคโรไลน์ http://islands.unep.ch/IKQ.htm#Caroline http://islands.unep.ch/Tisolat.htm http://www.atlapedia.com/online/countries/kiribati... http://www.janeresture.com/kiribati_line/caroline.... http://www.janeresture.com/kirimwaie/index.htm http://ocean.nationalgeographic.com/ocean/explore/... http://www.oceandots.com/pacific/line/ http://www.oceandots.com/pacific/line/caroline.php http://www.statoids.com/uki.html http://www.theoceanadventure.com/NemoIE03/DAY20Nem...