ประวัติ ของ เขตตะนาวศรี

ยุคประวัติศาสตร์

ในหลักศิลาจารึกมีบันทึกว่า ดินแดนของอาณาจักรไทยทางฝั่งตะวันตกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้แผ่ขยายไปจนถึงหงสาวดีจดอ่าวเบงกอล และในบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาติดต่อกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในด้านประวัติศาสตร์ตะนาวศรีปรากฏตัวและมีฐานะเป็นรัฐอิสระก่อนการเกิดอาณาจักรพะโค เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา สยามสมัยพระนารายณ์มหาราชมีอาณาเขตแผ่ถึงปัตตานี ลาว ภูเขียว เขมร อังวะ พะโค และมะละกา มีเมืองท่าสำคัญคือมะริดและภูเก็ต และมีหัวเมืองสำคัญคือ พิษณุโลก ตะนาวศรี กรุงเทพมหานคร และเพชรบุรี[2][3][4] ในอดีตที่ผ่านมา เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองมะริดและตะนาวศรี ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากของไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่พ่อค้าต่างประเทศทางอินเดีย และยุโรปนำสินค้าจากทางเรือขึ้นมาค้าขายในเมืองไทย ถึงกับมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถให้ปกครองดูแล และด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในอดีตไทยกับพม่าจึงมักมีศึกชิงเมืองมะริดและตะนาวศรีกันบ่อยครั้ง เมืองตะนาวศรียังถือเป็นหนึ่งในพระยามหานคร 8 เมือง ที่ต้องเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา คือ เมืองพิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย[5] ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนทั้ง 3 นี้ แม้บางช่วงจะอยู่ในฐานะหัวเมืองที่ไม่ขึ้นกับใครโดยตรง

ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงยุครัตนโกสินทร์

แผนที่การเสียดินแดนของไทย (หมายเลขที่ 2)

ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. 2302 สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ได้ยกกองทัพมาตีเมืองทวายซึ่งขณะนั้นแข็งเมืองอยู่ และได้ยกพลตามมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พยายามยกทัพไปตีเมืองทวายคืนจากพม่า แม้จะไม่สำเร็จ แต่ในอีก 4 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2334 เมืองทะวาย ตะนาวศรี และมะริด ก็มาขอขึ้นกับไทย

ในปี พ.ศ. 2366 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี พร้อมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่ เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่าฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็นอาณาเขตของประเทศไทย

ภายหลังในปี พ.ศ. 2408 จึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในช่วงปี พ.ศ. 24082410 มีการตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดน เพื่อดำเนินการร่วมสำรวจและชี้แนวเขตแดนของตนตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงจังหวัดระนอง โดยฝ่ายไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม ผู้บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้เฉียงตะวันตก เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม และมีเจ้าพระยายมราช (ครุฑ) พระยาเพชรบุรี และพระยาชุมพร(กล่อม) รับผิดชอบตั้งแต่เขตจังหวัดกาญจนบุรี ถึงจังหวัดระนอง ส่วนอังกฤษได้ตั้ง Lieutenant Arthur Herbert Bagge เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม

เมื่อการสำรวจทำแผนที่ และทำบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับที่หมายเขตแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมจัดทำอนุสัญญาขึ้นที่กรุงเทพ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 และได้มีการให้สัตยาบันกัน ที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 ภายหลังจากฝ่ายไทยได้ตรวจสอบเห็นว่าแผนที่ The Map of Tenasserim and the adjacent provinces of the Kingdom of Siam ที่อังกฤษจัดทำขึ้นใหม่นั้นถูกต้องแล้ว นับแต่นั้นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่สบเมยถึงปากแม่น้ำกระบุรี จึงได้เปลี่ยนจากเส้นเขตแดนที่ยอมรับโดยพฤตินัย มาเป็นเส้นเขตแดนที่กำหนดขึ้นโดยอนุสัญญา[ต้องการอ้างอิง] บัญชีที่หมายเขตแดนแนบท้ายอนุสัญญา และแผนที่แนบท้ายอนุสัญญา

ในอนุสัญญาได้ระบุเส้นเขตแดนตรงแม่น้ำกระบุรีว่า “..ตั้งแต่เขาถ้ำแดงตามเขาแดนใหญ่มาจนถึงปลายน้ำกระใน เป็นเขตแดนจนถึงปากน้ำปากจั่น ลำแม่น้ำเป็นกลาง เขตแดนฝ่ายละฟาก เกาะในแม่น้ำปากจั่นริมฝั่งข้างอังกฤษเป็นของอังกฤษ ริมฝั่งข้างไทยเป็นของไทย เกาะขวางหน้ามลิวันเป็นของไทย แม่น้ำปากจั่นฝั่งตะวันตกเป็นของอังกฤษ ตลอดจนถึงปลายแหลมวิคตอเรีย ฝั่งตะวันออกตลอดไปเป็นของไทยทั้งสิ้น...”

สรุปว่า ในครั้งนั้นกำหนดให้แม่น้ำเป็นกลาง ให้ฝั่งเป็นเขตแดน ฝั่งด้านตะวันตกเป็นของพม่า ฝั่งด้านตะวันออกเป็นของไทย สำหรับเกาะในแม่น้ำถ้าชิดฝั่งตะวันตกก็ให้เป็นของอังกฤษ ถ้าชิดฝั่งตะวันออกก็ให้เป็นของไทย สำหรับเกาะขวางให้เป็นของไทย

กล่าวได้ว่า ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา

การปรับปรุงเส้นเขตแดนใหม่กับไทย

ในปี พ.ศ. 2379 แม่น้ำปากจั่นที่กั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดระนองของประเทศไทย กับเขตตะนาวศรีของประเทศพม่าเปลี่ยนทางเดิน รัฐบาลไทยจึงได้ขอปรับปรุงเส้นเขตแดนนี้กับอังกฤษ ซึ่งทำให้ไทยเสียดินแดนที่เป็นเกาะไปประมาณ 100 ไร่ แต่ได้คืนมา 186 ไร่ และดินแดนที่ได้คืนมานี้ประชากรส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย[6]

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1948 ดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐกะเหรี่ยง ต่อมาใน ค.ศ. 1974 ดินแดนทางตอนเหนือที่เหลือของเขตตะนาวศรีก็ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐมอญ[7] แต่เดิมเมืองเอกของเขตตะนาวศรีคือเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) แต่เมื่อมีการจัดตั้งเป็นรัฐมอญแล้ว เมืองเมาะลำเลิงจึงตกอยู่ในการปกครองของรัฐมอญ ต่อมาจึงมีการจัดตั้งเมืองทวายเป็นเมืองเอกของเขตตะนาวศรีแทนเมืองเมาะลำเลิงที่อยู่ในเขตของรัฐมอญ[7] ต่อมาในปี ค.ศ. 1989 ทางการพม่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงการสะกดชื่อเขตตะนาวศรีในอักษรโรมัน โดยจากเดิมสะกดว่า Tenasserim เปลี่ยนเป็น Tanintharyi และออกเสียงเป็นภาษาพม่าเป็น ตะนี่นตายี นั่นเอง