ประวัติ ของ เขื่อนทุ่งเพล

เขื่อนทุ่งเพล เป็นเขื่อนตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[2][3] สำหรับจัดหาแหล่งน้ำสำหรับกักเก็บในการอุปโภค บริโภค และใช้ในด้านการเกษตร รวมถึงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งดำริขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ในการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร[4] โดยนางสิริพร ไศละสูต เลขาธิการพลังงานแห่งชาติในขณะนั้นได้ถ่ายทอดให้ฟังว่า[5]

"เมื่อถวายรายงานว่า หลังจากนี้กรมจะสร้างฝายยางเพื่อกั้นน้ำและปล่อยน้ำไปช่วยทางจังหวัดตราด พระองค์รับสั่งว่า "ยังไม่วิกฤติ ยังน้อย คนที่ต้องช่วยเขาก่อนจะอยู่ทางด้านทุ่งเพล เพราะขาดน้ำมากกว่า"...

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้รับกระแสพระราชดำริและมอบหมายให้เลขาธิการพลังงานแห่งชาติ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)[4] นำไปศึกษาและดำเนินการ[5]

การศึกษา

จากนั้นสำนักงานพลังงานแห่งชาติได้ดำเนินการศึกษาและสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับการสำรวจเบื้องต้นแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2508 ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสมในปีงบประมาณ 2532 โดยแบ่งเขื่อนในโครงการเป็นสองส่วนคือ เขื่อนบน อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ชื่อว่าเขื่อนทุ่งเพล และเขื่อนล่าง อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่า คือเขื่อนบ้านพลวง เพื่อประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ[4]

โครงการก่อสร้างนั้นถูกวางขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2532 ถึงปีงบประมาณ 2541 ใช้ระยะเวลา 10 ปี ภายใต้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 2,364 ล้านบาท โดยได้เริ่มต้นก่อสร้างส่วนของเขื่อนบ้านพลวง (เขื่อนล่าง) ก่อนเนื่องจากพื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยลงนามว่าจ้างบริษัท บางกอกมอเตอร์อีควิปเมนต์ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 และก่อสร้างเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2537 และเริ่มต้นใช้งานในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน[4]

เขื่อนบ้านพลวงตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อของอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ (ในภาพ) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

แต่ส่วนของเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) สำนักงานพลังงานพลังงานแห่งชาติเห็นว่าแนวการวางท่อส่งน้ำเดิมที่บริษัทที่ปรึกษาออกแบบจะต้องมีการตัดหน้าดิน อาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลสวีเดนเพื่อให้ร่วมศึกษาและทบทวนแผนในการออกแบบเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) ให้ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 และออกแบบแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว รวมถึงแนวอุโมงค์ส่งน้ำมายังเขื่อนบ้านพลวงบางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2537 เห็นชอบในหลักการอนุญาตให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (สำนักงานพลังงานแห่งชาติเดิม) เข้าไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) ได้ พร้อมทั้งเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อนออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ออกจากเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และผ่อนผันการใช้งานในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 เอ[4]

นอกจากนี้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2537 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนบนและหาทางแก้ไขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจึงได้ว่างจ้งให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการศึกษาจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2538[4]

การก่อสร้าง

เขื่อนทุ่งเพลเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 โดย บริษัท ไทยวิวัฒน์วิศวการทาง จำกัด วงเงิน 33,380,100 บาท ในส่วนของตัวเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน) โรงไฟฟ้าและอาคารประกอบ (C1) ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558[6]

ในส่วนของระบบผลิตและจ่ายไฟฟ้า ได้ดำเนินการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำพร้อมกับชุดอุปกรณ์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 วงเงินงบประมาณ 9,927,460 บาท[6] ติดตั้งระบบป้องกันสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพร้อมทั้งอุปกรณ์ประกอบภายในโครงการฯ ดำเนินงานระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558 วงเงิน 19,852,245 บาท ซึ่งสองงานไฟฟ้านี้ดำเนินการโดยบริษัท เพาเวอร์ ไนน์ เอ็นจิเนียริง จำกัด[6] และเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบป้องกันสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจันทบุรี ดำเนินการโดยการ่าจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วงเงิน 4,550,000 บาท[6]

ปัจจุบันโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพลได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2561[7] โดยมีอ่างเก็บน้ำบ้านพลวง (เขื่อนล่าง) เป็นแหล่งรับน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งมาจากเขื่อนทุ่งเพล (เขื่อนบน)[4][1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิม) ได้ว่าจ้างให้บริษัท บี แอนด์ ซี เมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมและดำเนินการสำรวจออกแบบการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล ปรากฏออกมาเป็นรายงานในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 จำนวน 3 โครงการ โดย 1 ใน 3 ของโครงการดำเนินการในเขื่อนทุ่งเพลในรูปแบบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก แห่งที่ 2 ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเดิม ให้พลังงานเฉลี่ยต่อปี 2.59 ล้านหน่วย โดยจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ 3 เฟส กังหันแกนนอน AC Synchronous Generator ขนาด 983 กิโลวัตต์-แอมแปร์ จำนวน 2 ชุด[8]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เขื่อนทุ่งเพล //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://e-lib.dede.go.th/mm-data/Bib15165%E0%B9%82%... http://e-lib.dede.go.th/mm-data/Bib7962.pdf http://km.rdpb.go.th/Project/View/6554 https://news.ch7.com/detail/618760 https://travel.kapook.com/view254075.html https://mgronline.com/local/detail/9510000123700 https://okchanthaburi.com/2018/07/%E0%B8%99%E0%B9%... https://www.power9eng.com/project/thung_phen_hydro...