เขื่อนภูมิพล
เขื่อนภูมิพล

เขื่อนภูมิพล

เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ในประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง ได้รับการอนุมัติให้สำรวจและก่อสร้างในปี พ.ศ. 2496 ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดิมมีชื่อโครงการว่า เขื่อนยันฮี เมื่อเริ่มกระบวนการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 ก็ได้รับพระราชทานนามว่าเขื่อนภูมิพล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เขื่อนภูมิพลสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนโค้งที่สูงเป็นอันดับ 27 ของโลก เขื่อนภูมิพลใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้จากธนาคารโลกจำนวน 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,320 ล้านบาท) และอีกราว 700 ล้านบาทเป็นงบประมาณรัฐบาล[1]ในการนี้ ได้มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแลการก่อสร้างและบริหารโครงการชื่อว่า "การไฟฟ้ายันฮี" เมื่อพ.ศ. 2500 และหลังเปิดดำเนินงานในปีพ.ศ. 2507 ได้เพียงสามปี การไฟฟ้ายันฮีมีกำไรสะสม(หักส่วนที่ชำระคืนเงินกู้ราวปีละ 102 ล้านบาทแล้ว)ในปีพ.ศ. 2510 ถึง 397.41 ล้านบาท[2] และในปีพ.ศ. 2511 การไฟฟ้ายันฮีได้ควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ "การลิกไนต์" และ "การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ" เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนภูมิพลมีกำลังผลิตไฟฟ้า 779.2 MW

เขื่อนภูมิพล

พิกัดภูมิศาสตร์ 17°15′54″N 98°54′00″E / 17.265°N 98.9°E / 17.265; 98.9พิกัดภูมิศาสตร์: 17°15′54″N 98°54′00″E / 17.265°N 98.9°E / 17.265; 98.9
ความยาว 486 เมตร
ความสูง 154 เมตร
ความกว้าง (ที่ฐาน) 56 เมตร
ชื่อทางการ เขื่อนภูมิพล
กั้น แม่น้ำปิง
วันที่เปิด 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507
ที่ตั้ง เขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก
เริ่มต้นการก่อสร้าง พ.ศ. 2500