ประวัติ ของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า "ราชการทหารเป็นกิจพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติราชการอย่างนั้นต้องออกกำลังแรงและปัญญาอย่างอุกฤษฐ์ ทั้งต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะสละชีวิตเป็นราชพลีและเพื่อรักษาอิสรภาพบำรุงความรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมือง สมควรจะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบสำหรับผู้ทำดีในราชการแผนกนี้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง" ดังนั้น พระองค์จึงทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อบำเหน็จความชอบแก่ผู้ทำดีในราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยพระราชทานครั้งแรกให้กับ ทหารและอาสาสมัคร ผู้ไปปฏิบัติภารกิจในสงครามโลกครั้งที่1 โดยกำหนดให้แบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 4 ชั้น พร้อมด้วยเหรียญราชอิสริยาภรณ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงมุรธาธรเป็นผู้จัดทำ พร้อมกันนี้ โปรดเกล้าฯ ให้มีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย คณาธิบดี 1 เลขาธิการ 1 และที่ปรึกษา 5 คน สำหรับเป็นที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1]

คณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีการแต่งตั้งขึ้น 2 ครั้ง โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์มีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นคณาธิบดี พระยาสีหราชเดโชไชย (แย้ม ณ นคร) เป็นเลขาธิการ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์, หม่อมเจ้าพันธุประวัติ และพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นที่ปรึกษา[4]

ส่วนคณะที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชุดที่ 2 นั้น แต่งตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นคณาธิบดี พระอาษาสงคราม (ต๋อย หัศดิเสวี) เป็นเลขาธิการ พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน, พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร, หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร, หม่อมเจ้าอลงกฎ และพระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นที่ปรึกษา[5]

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ก็ได้ระงับไปชั่วคราว จนกระทั่ง มีการตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. ๒๕๐๓ ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่ภาวะการปัจจุบัน รวมทั้งได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลงด้วย[6] และมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ขึ้นอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

ใกล้เคียง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เครื่องบินขับไล่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องคิดเลข เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2462/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2471/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2525/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2526/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2528/A/...