เคแมนแคระกูว์วีเย
เคแมนแคระกูว์วีเย

เคแมนแคระกูว์วีเย

เคแมนแคระกูว์วีเย (อังกฤษ: Cuvier's dwarf caiman, Cuvier's caiman, Smooth-fronted caiman, Musky caiman; ชื่อวิทยาศาสตร์: Paleosuchus palpebrosus) เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง จำพวกเคแมน จัดอยู่ในวงศ์แอลลิเกเตอร์ (Alligatoridae) จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับจระเข้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง มีขนาดยาวเต็มที่ประมาณ 1.4 เมตร (4.6 ฟุต) ในตัวผู้ และ 1.2 เมตร (3.9 ฟุต) ในตัวเมีย น้ำหนักประมาณ 6 ถึง 7 กิโลกรัม (13 ถึง 15 ปอนด์) ถูกค้นพบและบรรยายทางวิทยาศาสตร์โดยฌอร์ฌ กูว์วีเย (Georges Cuvier) นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเป็นบุคคลแรก โดยสถานที่ค้นพบครั้งแรกคือเมืองกาแยนในเฟรนช์เกียนา[3] โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์ คำว่า Paleosuchus มาจากคำภาษากรีกว่า palaios หมายถึง "โบราณ" และ soukhos หมายถึง "จระเข้" เพราะเชื่อว่าเคแมนแคระกูว์วีเยสืบสายพันธุ์มาจากสัตว์ในอันดับจระเข้โบราณอายุนานกว่า 30 ล้านปี และคำว่า palpebrosus มาจากภาษาละติน palpebra หมายถึง "เปลือกตา" และ osus หมายถึง "เต็มไปด้วย" ซึ่งหมายถึงแผ่นกระดูกที่ปรากฏอยู่เหนือเปลือกตา[4]เคแมนแคระกูว์วีเย กระจายพันธุ์อยู่ในป่าทึบของลุ่มน้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ โดยอาศัยในพื้นที่ที่เป็นแม่น้ำและทะเลสาบ การฟักไข่เหมือนกับเคแมนชนิดอื่น ๆ คือ ใช้ความร้อนจากแสงแดดหรือความร้อนจากการเน่าสลายของพรรณพืชที่ใช้ปกคลุมรังเพื่อการฟักเป็นตัว[5]เคแมนแคระกูว์วีเยไม่มีชนิดย่อย[4] กินอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, ปลา, ปู, นก, กุ้ง, หอย, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก รวมถึงแมลงปีกแข็งและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังด้วย[4] เนื่องจากเป็นสัตว์ขนาดเล็กจึงนิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยงด้วย[6]