เจนทริฟิเคชัน
เจนทริฟิเคชัน

เจนทริฟิเคชัน

เจนทริฟิเคชัน (อังกฤษ: gentrification) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะของย่านในเมืองย่านหนึ่ง ๆ ผ่านการไหลบ่าเข้ามาของผู้อยู่อาศัยและธุรกิจที่มีความมั่งคั่งมากกว่าผู้อยู่อาศัยและธุรกิจดั้งเดิม[1] ย่านที่ตกเป็นเป้าหมายของการแปลงเปลี่ยนชนชั้นจะถูกแปลงสภาพผ่านการปรับปรุงอาคารให้สูงหรือทันสมัยกว่าอาคารที่มีอยู่เดิม ผลที่ตามมาคือ ค่าเช่าหรือค่าครองชีพในย่านดังกล่าวสูงขึ้น ผู้ที่อยู่อาศัยและธุรกิจที่มีรายได้น้อยต้องย้ายออกไปตั้งหลักแหล่งในพื้นที่รอบนอกแทน และย่านที่ถูกแปลงสภาพนี้ก็จะถูกกลุ่มคนและธุรกิจที่มีรายได้สูงกว่าเข้าครอบครองในที่สุด กระบวนการนี้เป็นหัวข้อที่พบบ่อยและเป็นที่โต้เถียงในทางการเมืองและการวางผังเมือง การแปลงเปลี่ยนชนชั้นมักเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของย่านนั้น ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่เกิดขึ้นก็มักเป็นที่มาของความขัดแย้งเช่นกันการแปลงเปลี่ยนชนชั้นมักเคลื่อนย้ายองค์ประกอบทางเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์และรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ย ผ่านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ธุรกิจ และทรัพยากรที่ปรับปรุงแล้วและมีราคาแพงขึ้น[2] กระบวนการแปลงเปลี่ยนชนชั้นโดยทั่วไปเป็นผลมาจากความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อย่านหนึ่ง ๆ ของกลุ่มคนผู้มีรายได้สูงกว่าซึ่งขยายตัวออกมาจากนคร เมือง หรือย่านที่อยู่ใกล้เคียง ขั้นตอนต่อไปคือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลท้องถิ่น หรือนักกิจกรรมในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสนใจธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และอัตราอาชญากรรมที่ลดลง[3] นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้เหล่านี้แล้ว การแปลงเปลี่ยนชนชั้นยังนำไปสู่การอพยพและการโยกย้ายประชากรด้วย อย่างไรก็ตาม บางคนมองว่าความกังวลต่อการโยกย้ายประชากร (ซึ่งมักเป็นที่กล่าวถึงในการถกเถียงเกี่ยวกับการแปลงเปลี่ยนชนชั้น) เป็นอุปสรรคต่อการอภิปรายว่าด้วยวิธีการที่ก้าวหน้าอย่างแท้จริงในการกระจายผลประโยชน์จากกลยุทธ์การพัฒนาเมือง[4]

ใกล้เคียง