ประวัติ ของ เจ้าจอมน้อม_ในรัชกาลที่_5

เจ้าจอมน้อม ในรัชกาลที่ 5 กำเนิดในสกุลโชติกเสถียร เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2420 ที่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง ข้างวัดบพิตรภิมุข เป็นธิดาของพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (ทองดี โชติกเสถียร) กับ คุณหญิงลูกจันทร์

มีพี่น้องร่วมมารดา คือ

  • สวัสดิ์ โชติกเสถียร
  • เจ้าจอมน้อม
  • นิตย์ โชติกเสถียร
  • ปลิด โชติกเสถียร

และยังมีพี่น้องต่างมารดาอีก ดังนี้

  • พลโท พระสราภัยสฤษฎิการ ( กระมล โชติกเสถียร )
  • พระมหามนตรีศรีองครักษ์สมุห ( ฉัตร โชติกเสถียร )
  • ผาด โชติกเสถียร
  • ประเทือง โชติกเสถียร
  • ออม วาศวิท
  • ปุ่น โชติกเสถียร
  • ร้อยโท เฉลียว โชติกเสถียร
  • รองสนิท โชติกเสถียร
  • จมื่นสมุหพิมาน ( นรหัช โชติกเสถียร )
  • พันตำรวจตรี พงษ์คำ โชติกเสถียร
  • ทองทวี โชติกเสถียร

เจ้าจอมน้อม ได้รับจากมารดา จนโตพอสมควรจึงเรียนจากครูหนอ และพระศรีสัตยารักษ์ ต่อมาเมื่ออายุ 7-8 ขวบ มารดาท่านถึงอนิจกรรม ท่านผู้หญิงสุ่น โชฎึกราชเศรษฐี ผู้เป็นย่าของท่าน รับเลี้ยงดูต่อมา ในช่วงนี้ท่านยังได้หัดสวดมนต์และนั่งวิปัสนา ตามท่านผู้หญิงด้วย

เจ้าจอมน้อมได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน ภายหลังโกนจุก เมื่ออายุ 13 ปี ในสำนักของพระอรรคชายาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ จนได้รับพระมหากรุณาเป็นเจ้าจอม ท่านเป็นผู้มีบุคลิกกิริยา น่านับถือ กิริยาท่าทีสง่างาม อุปนิสัยเยือกเย็นหนักแน่น จนเป็นที่เกรงใจของคนทั่วไป แม้เจ้านายบางพระองค์ยังมีรับสั่งว่า

แม่น้อมกับแม่เฉียดนี้ น่าเกรงใจ

เจ้าจอมน้อม มีหน้าที่ประจำปฏิบัติงานเกี่ยวกับพระเครื่องต้นในรัชกาลที่ 5 จึงมีหน้าที่ปอกผลไม้ร่วมกับคุณจอมท่านอื่นๆ ด้วยเหตุที่ท่านผู้หญิงสุ่น เป็นสตรีรุ่นแรกๆ ที่คิดปอกมะปรางริ้ว เจ้าจอมน้อม ในฐานะหลานท่านผู้หญิงสุ่น จึงมีโอกาสรับและแสดงฝีมือในทางนี้มาก นอกจากงดงามแล้ว ยังสามารถดัดแปลงให้เหมือนรูปหอยแครง ทั้งยังสามารถปอกโดยไม่ต้องปลิดลูกจากพวงด้วย ฉะนั้นท่านปอกมะปรางครั้งใด เป็นต้องได้เสวย งานทุกอย่างที่เป็นงานของชาววังสมัยนั้น ท่านทำได้ดีแทบทุกอย่าง การจัดโต๊ะพระราชทานเลี้ยงรับรองแขกเมือง รวมทั้งอาหารเช่น การจัดข้าวเหนียวสีและหน้าต่างๆ ท่านต้องมีส่วนช่วยหรือจัดทำแทบทุกครั้ง เพราะท่านเป็นคนละเอียดลออประณีต นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับการจัดงานพระศพเจ้านาย เป็นการแบ่งเบาพระภาระของพระวิมาดาเธอฯเป็นอันมาก

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ท่านจึงกราบถวายบังคมลา ออกมาอยู่กับท่านบิดาที่บ้าน ปรนนิบัติท่านบิดา จนถึงอนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2490 หลังจากนั้นจนตลอดชีวิต ก็ได้ทำบุญสุนทานตลอดเวลา แม้เงินที่ได้รับพระราชทานตลอดชีพนั้นก็ได้นำไปบริจาคเสมอ งานสำคัญที่ท่านได้รับพระมหากรุณาฉลองพระเดชพระคุณประจำสกุลโชติกเสถียร คือการถวายเครื่องสังเวยพระป้าย ประจำปีตรุษจีน ครั้งสุดท้ายก่อนอนิจกรรม คือ บูรณะวัดนรนาถสุนทริการาม ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูลโชติกเสถียร

เจ้าจอมน้อม ถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2509 ศพได้รับพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2509

ใกล้เคียง

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าจอมก๊กออ เจ้าจอมมารดาจีน เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมนรินทร์ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4