ประวัติ ของ เจ้าจอมมารดาชุ่ม_ในรัชกาลที่_4

เจ้าจอมมารดาชุ่ม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ)[1] และขรัวยายคล้าย เป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดาเที่ยงและเจ้าจอมช้อย ในรัชกาลที่ 4[2] และเป็นพี่สาวต่างมารดาของเจ้าจอมมารดาทับทิมและเจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเจ้าลูกยาเธอหนึ่งพระองค์ คือ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (พ.ศ. 2405-2486)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่มได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จนได้เป็นเหตุให้มีการแก้ไขธรรมเนียมการออกนามเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ล่วงไปแล้ว ปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือ "ความทรงจำ" ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2437 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ประชวรด้วยโรคไข้ส่า ซึ่งขณะนั้นเกิดเป็นโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพฯ วันหนึ่งกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงพลัดตกเตียงขณะจะทรงประทับนอนพักผ่อนในห้องสมุดส่วนพระองค์วังสะพานดำรงสถิตย์ เนื่องจากผู้กางเตียงถวายกางเตียงไม่เต็มที่ แต่ข่าวลือถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าอาการประชวรของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพหนักจนถึงดิ้นรนพลัดตกเตียง ก็ตกพระราชหฤทัย ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าจอมมารดาชุ่มเพื่อทรงไต่ถามพระอาการของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อผนึกซองพระราชหัตถเลขาแล้วจะทรงสลักหลังซองว่า "ถึงชุ่มเจ้าจอมมารดา" ตามธรรมเนียมการออกนามเจ้าจอมมารดารัชกาลในที่ล่วงไปแล้ว ณ เวลานั้น (การออกชื่อตัวแล้วต่อท้ายด้วยคำว่าเจ้าจอมมารดา หมายความว่าเจ้าจอมมารดาผู้นั้นเป็นหม้าย) ทรงนึกสงสาร จึงทรงเขียนที่หลังซองใหม่ว่า "ถึงเจ้าจอมมารดาชุ่ม" แล้วเลยมีพระราชดำรัสสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ให้เปลี่ยนระเบียบเรียกเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ล่วงไปแล้ว ให้ใช้คำ เจ้าจอมมารดา นำชื่อ แต่ให้เติมลำดับรัชกาลเข้าข้างหลังเช่นว่า เจ้าจอมมารดาชุ่มรัชกาลที่ 4 ดังนี้ และใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงปัจจุบัน[3]

เจ้าจอมมารดาชุ่ม ป่วยเป็นโรคบิดมีไข้เจือด้วยโรคชรา มีอาการอ่อนเพลียลงโดยลำดับจนถึงแก่อสัญกรรม ณ วังวรดิศ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เวลา 14.35 น. สิริอายุได้ 80 ปี วันต่อมา เวลา 11.00 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าพนักงานเชิญศพลงลองใน ตั้งบนแท่น 2 ชั้นในท้องพระโรง ประกอบโกศไม้สิบสอง แวดล้อมด้วยฉัตรเบญจา 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงทอดผ้าไตรบังสุกุล พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 15 วัน[4] ได้รับการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ พ.ศ. 2469 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง "ตำนานพุทธเจดีย์สยาม" (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น "ตำนานพระพุทธเจดีย์" ในการพิมพ์ครั้งต่อ ๆ มา) และจัดพิมพ์เพื่ออุทิศพระกุศลสนองคุณพระมารดาในงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้น[5]

ใกล้เคียง

เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าจอมแส ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมก๊กออ เจ้าจอมมารดาจีน เจ้าจอมนรินทร์ เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4