หนทางสู่ราชบัลลังก์ ของ เจ้าชายควังแฮ

องค์ชายควังแฮประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1574 เป็นพระโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าซอนโจกับพระสนมคงบิน ตระกูลคิม (เกาหลี: 공빈김씨 恭嬪金氏) ซึ่งเป็นธิดาของนายพลคิมฮีชอล (เกาหลี: 김희철 金希哲) ผู้ซึ่งเสียชีวิตในการต่อสู้กับญี่ปุ่น องค์ชายควังแฮมีพระเชษฐาคือ องค์ชายอิมแฮ (เกาหลี: 임해군 臨海君) ใน ค.ศ. 1592 เกิดการรุกรานของญี่ปุ่นโดยทัพของโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ องค์ชายอิมแฮพระเชษฐาถูกทัพญี่ปุ่นของ คะโต คิโยะมะซะ จับเป็นองค์เชลย ในขณะที่ทัพญี่ปุ่นรุกคืบเข้าสู่เมือง เปียงยางนั้น พระเจ้าซอนโจพระบิดาแต่งตั้งองค์ชายควังแฮเป็นองค์ชายรัชทายาทหรือเซจาด้วยความรีบร้อนและเสด็จหนีไปยังประเทศจีน องค์ชายควังแฮเป็นผู้นำกองทัพชาวบ้านหรืออีบยอง (เกาหลี: 의병 義兵) ในมณฑลฮัมกยองและมณฑลจอลลา ในการต้านทานการรุกรานของญี่ปุ่น

องค์ชายรัชทายาทมีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น แม้กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ชายควังแฮกับพระเจ้าซอนโจพระบิดานั้นไม่สู้จะดีนัก พระเจ้าซอนโจมีพระสนมองค์โปรดองค์ใหม่คือ พระสนมอินบิน ตระกูลคิม (เกาหลี: 인빈김씨 仁嬪金氏) และประสงค์จะให้พระโอรสของพระสนมอินบินขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ. 1600 พระนางอึยอิน พระมเหสีองค์แรกของพระเจ้าซอนโจสิ้นพระชนม์พระเจ้าซอนโจอภิเษกพระมเหสีพระองค์ใหม่ใน ค.ศ. 1602 คือ พระมเหสีอินมก ตระกูลคิม (เกาหลี: 인목왕후김씨 仁穆王后金氏) ซึ่งได้ประสูติองค์ชายยองชัง (เกาหลี: 영창대군 永昌大君) ใน ค.ศ. 1606 เท่ากับว่าความชอบธรรมในราชบัลลังก์ขององค์ชายควังแฮถูกท้าทาย เนื่องจากพระโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีมีสิทธิมากกว่าพระโอรสที่เกิดแต่พระสนม ทำให้ขุนนางฝ่ายเหนือซึ่งมีอำนาจอยู่ในขณะนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายเหนือใหญ่ หรือ แทบุก ให้การสนับสนุนองค์ชายควังแฮ มีผู้นำได้แก่ลีอีชอม (เกาหลี: 이이첨 李爾瞻) และจองอินฮง (เกาหลี: 정인홍 鄭仁弘) และฝ่ายเหนือเล็กหรือ โซบุก ซึ่งต่อต้านองค์ชายควังแฮโดยสนับสนุนองค์ชายยองชังหรือองค์ชายอิมแฮแทน

พระเจ้าซอนโจสวรรคตเมื่อ ค.ศ. 1608 องค์ชายรัชทายาทควังแฮจึงขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ทว่าอัครเสนาบดียูยองกยอง (เกาหลี: 류영경 柳永慶) ได้กล่าวอ้างว่าแท้จริงแล้วพระเจ้าซอนโจประสงค์จะให้องค์ชายอิมแฮขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ โดยแสดงราชโองการเป็นหลักฐาน ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันฝ่าราชโองการของอีกฝ่ายเป็นของปลอม อัครเสนาบดียูยองกยองจึงถูกประหารชีวิตและองค์ชายอิมแฮถูกเนรเทศไปเกาะคังฮวา ซึ่งจองอินฮงได้ส่งคนไปทำการบังคับให้องค์ชายอิมแฮปลิดพระชนม์ชีพพระองค์เองใน ค.ศ. 1609

องค์ชายยองชังแม้ว่าจะยังอายุน้อยแต่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเหนือเล็ก เปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่ทำให้ขุนนางฝ่ายเหนือใหญ่ตัดสินใจผลักดันให้มีปลดองค์ชายยองชัง รวมทั้งพระพันปีอินมกพระมารดาลงเป็นสามัญชนใน ค.ศ. 1613 โดยเนรเทศองค์ชายยองชังไปยังเกาะคังฮวาและกักขังพระพันปีอินมกพร้อมทั้งองค์หญิงจองมยอง (เกาหลี: 정명공주 貞明公主) พระธิดาเอาไว้ใน พระราชวังคยองฮี หรือพระราชวังตะวันตก หรือซอกุง (เกาหลี: 서궁 西宮) ห้ามใครเข้าเฝ้า และยังทำการกวาดล้างขุนนางฝ่ายเหนือเล็กที่ให้การสนับสนุนองค์ชายยองชังไปจนหมดสิ้น เรียกว่า เหตุการณ์ปีคเยชุก (เกาหลี: 계축옥사 癸丑獄事) ในปีต่อมาค.ศ. 1614 ลีอีชอมและจองอินฮงส่งคนไปทำการปลงพระชนม์องค์ชายยองชังที่เกาะคังฮวา องค์ชายยองชังจึงสิ้นพระชนม์ด้วยอายุเพียงเจ็ดพรรษา

ใกล้เคียง

เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เจ้าชายอับดุล มาตีนแห่งบรูไน เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ เจ้าชายคริสเตียน มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายฮุซัยน์ มกุฎราชกุมารแห่งจอร์แดน เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ เจ้าชายอับดุล อาซิมแห่งบรูไน