ประสูติ ของ เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์

โรงพยาบาลเซนต์แมรี ที่ประสูติพระโอรส

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เสด็จประทับยังห้องลินโดวิง ของโรงพยาบาลเซนต์แมรี เพื่อทรงเตรียมคลอดโดยวิธีเบ่ง[5][6] โรงพยาบาลนี้เคยเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์เมื่อทรงคลอดเจ้าชายวิลเลียมใน พ.ศ. 2525 และเจ้าชายแฮร์รีใน พ.ศ. 2527 ตามลำดับ ครั้นเวลา 16:24 นาฬิกา (เวลาฤดูร้อนบริเตน) ของวันนั้น พระกุมารก็ประสูติ มีพระกายหนัก 3.80 กิโลกรัม[7] และเจ้าชายวิลเลียมเสด็จอยู่เคียงข้างพระชายา ณ เวลาทรงคลอด[8] แพทย์ผู้ทำคลอดคือ มาร์คัส เซตเชล อดีตนรีแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยผู้ช่วยคือ อะลัน ฟาร์ทิง (Alan Farthing) ผู้สืบตำแหน่งนรีแพทย์ประจำพระองค์ถัดจากเขา[8]

โฆษกเมืองประกาศพระประสูติกาลแก่บรรดาผู้มาอวยพรนอกโรงพยาบาล ต่อมา เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแขวนกรอบรูปแสดงประกาศอย่างเป็นทางการบริเวณลานหน้าพระราชวังบักกิงแฮม[9][10] ประกาศดังกล่าวว่า "ทั้งพระองค์หญิงและพระราชกุมารมีพระพลานามัยดี" และพระราชวังเค็นซิงตันแถลงข่าวว่า "สมเด็จพระราชินีนาถ ดยุกแห่งเอดินบะระ เจ้าชายแห่งเวลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอล เจ้าชายแฮร์รี กับทั้งพระราชวงศ์ทั้งสองฝ่าย ทรงรับทราบข่าวด้วยความโสมนัสแล้ว" ฝ่ายเจ้าชายแห่งเวลส์และพระชายานั้นก็ "ทรงปลื้มปีติต่อการเสด็จมาของพระนัดดาพระองค์แรก" และดำรัสว่า "นับเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่งสำหรับวิลเลียมและแคเธอริน และเราทั้งสองตื่นเต้นกับพวกเขาอย่างมากที่ได้ลูกชาย"[8] อนึ่ง นี้เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์และผู้สืบสันตติวงศ์สามรุ่นดำรงพระชนม์พร้อมหน้ากัน ภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย[11]

มีการยิงสลุตเป็นสัญญาณแห่งการประสูติ โดยในสหราชอาณาจักร กองทหารมหาดเล็ก กรมทหารม้าปืนใหญ่ (King's Troop, Royal Horse Artillery) ยิงสลุต 41 นัดที่สวนกรีน (Green Park) และหน่วยทหารปืนใหญ่เกียรติยศ (Honourable Artillery Company) ยิงสลุตอีก 61 นัดที่หอคอยแห่งลอนดอน ส่วนที่ประเทศนิวซีแลนด์ กองทหารมหาดเล็กแห่งกรมทหารปืนใหญ่นิวซีแลนด์ (Royal Regiment of New Zealand Artillery) ยิงสลุต 21 นัดที่พอยต์เจอร์นิงแฮม (Point Jerningham) เวลลิงตัน[12] ขณะที่บนเกาะเบอร์มิวดา กรมทหารเบอร์มิวดา (Bermuda Regiment) ยิงสลุต 21 นัดที่อัลบวีพอยต์ (Albouys Point)[13] นอกจากนี้ บรรดาหน่วยงานราชการทั้งทหารและพลเรือนเชิญธงสหภาพขึ้น ณ ที่ทำการด้วย[14][15]

เจ้าชายวิลเลียมทรงลาราชการกระทรวงกลาโหมเป็นเวลาสองสัปดาห์[16] แล้วจะแปรพระราชฐานพร้อมด้วยพระชายาและพระโอรสไปยังพระราชวังเค็นซิงตันในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่พระราชวังได้รับการปรับปรุงใหม่เป็นที่รโหฐานโดยใช้เงินหนึ่งล้านยูโร[17]

วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 พระกุมารทรงได้รับประทานพระนามจากพระชนกและพระชนนีว่า จอร์จ อเล็กซานเดอร์ หลุยส์ (George Alexander Louis)[18][19]

ใกล้เคียง

เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เจ้าชายอับดุล มาตีนแห่งบรูไน เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ เจ้าชายคริสเตียน มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายฮุซัยน์ มกุฎราชกุมารแห่งจอร์แดน เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ เจ้าชายอับดุล อาซิมแห่งบรูไน

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ http://bernews.com/2013/07/21-gun-salute-expected-... http://edition.cnn.com/2011/10/28/world/europe/roy... http://edition.cnn.com/2013/07/10/world/europe/roy... http://www.cnn.com/2013/07/24/world/europe/uk-roya... http://www.hotpress.com/Brendan-Graham/news/Brenda... http://www.scotsman.com/news/uk/1-million-home-for... http://www.theglobeandmail.com/news/world/around-t... http://www.thestar.com/news/gta/2013/07/03/royal_b... http://news.yahoo.com/baby-bounce-royal-infant-may... http://uk.news.yahoo.com/royal-baby--kate-and-will...