ประวัติ ของ เจ้าทิพเนตร

เจ้าทิพเนตร เป็นพระธิดาลำดับที่สามของเจ้ามหาเทพ กับเจ้าทิพโสม ณ เชียงใหม่ เจ้าบิดาเป็นพระโอรสในพระเจ้ามโหตรประเทศ ส่วนเจ้ามารดาเป็นบุตรเจ้าราชบุตร (ธนัญไชย ณ เชียงใหม่) และเป็นหลานของพระยาพุทธวงศ์

จำเดิมเจ้ามหาเทพ ผู้บิดา ไม่ใคร่ลงรอยกับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ จนถึงขั้นวิวาท เจ้ามหาเทพจึงถูกกักไปรับราชการที่กรุงเทพมหานครหลายปี เมื่อเจ้าทิพเนตรทรงเจริญพระชันษาสมควรแก่การสมรส พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระชามาดาของพระเจ้ากาวิโลรสทรงเห็นควรที่จะผูกไมตรีกับพระญาติวงศ์สายพระเจ้ามโหตรประเทศ จึงทรงจัดพิธีสู่ขอเจ้าทิพเนตรแก่เจ้าสุริยะ ณ เชียงใหม่ พระโอรสที่ประสูติแต่เจ้ารินคำ ทั้งสองมีพระโอรสเพียงองค์เดียวคือเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่)

ขณะที่ภัสดาเป็นเจ้าอุปราชอย่นั้น รัฐบาลสยามไม่พอใจการทำงานของเจ้าอุปราช (น้อยสุริยะ) เป็นอย่างมาก รัฐบาลสยามถึงกับต้องว่าจ้างชายาของเจ้าอุปราชคอยดูแลและกำกับตัวเจ้าอุปราช ดังโทรเลขของพระยาศรีสหเทพต่อกรมหลวงดำรงราชานุภาพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2443 ใจความตอนหนึ่งว่า "...ได้จัดตั้งเบี้ยหวัดเจ้าทิพเนตร ปีละ ๕๐๐ รูเปีย เท่ากับแม่นางภัณฑารักษ์ ยกขึ้นให้เปนข้าราชการฝ่ายผู้หญิง เงินเบี้ยหวัดรายนี้ ได้บอกให้เจ้าทิพเนตรเข้าใจว่า ถ้าเจ้าอุปราชเมา หรือไม่รับราชการดี จะลดหย่อนเงินเดือนเสีย ถ้ายังไม่ฟัง ขืนเมาหรือขืนเชื่อคำคนสอพลอยุยง ให้เจ้าทิพเนตรฟ้องต่อข้าหลวงใหญ่ อนึ่งเงินค่าตอไม้ แม่ปิง แม่ฮ่องสอน ซึ่งเจ้าผู้ครองเมืองเก็บได้ จะยกเอาเปนของหลวง..."[4]

ครั้นเมื่อเจ้าสุริยะ ได้ตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2444 เจ้าทิพเนตรจึงเป็นภรรยาเอกของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

เจ้าทิพเนตร ป่วยเป็นโรคชราถึงแก่กรรม ณ คุ้มเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2460 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2461) สิริอายุ 58 ปี[5]

ใกล้เคียง

เจ้าทิพเกสร เจ้าทิพเนตร เจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง เจ้าทองลัน เจ้าทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เจ้าแก้วนวรัฐ