พระประวัติ ของ เจ้าพระขวัญ

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าเจ้าพระขวัญเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชาที่ประสูติจากกรมหลวงโยธาทิพ พระอัครมเหสีฝ่ายขวา (หลักฐานร่วมสมัยว่ากรมหลวงโยธาเทพ) เมื่อวันที่พระองค์ประสูติได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระนามว่า เจ้าพระขวัญ เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระพรรษามีผู้คนนับถือเป็นอันมาก อันเนื่องมาจากพระองค์เป็นพระราชภาติยะ[1]ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพระชนมายุครบโสกันต์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ขึ้น ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท

ภายหลังพระราชพิธีโสกันต์ของเจ้าพระขวัญ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก ในครั้งนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ (ภายหลัง คือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) ทรงมีความเคลือบแคลงในเจ้าพระขวัญเป็นอันมาก อันเนื่องมาจากการที่เจ้าพระขวัญมีข้าไทยและผู้คนนับถือเป็นอันมาก นานไปอาจจะเป็นเป็นภัยต่อราชสมบัติของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงสมคบกับพระราชโอรสทั้งสองของพระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (ภายหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (ภายหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ในการกำจัดเจ้าพระขวัญเสีย

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวใกล้เสด็จสวรรคต สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังหลวง พร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนานมาก โดยเสด็จเข้าประทับในพระตำหนักหนองหวาย หลังจากนั้น สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัญฑูรให้มหาดเล็กไปเชิญเสด็จเจ้าพระขวัญมาเข้าเฝ้า โดยมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าพระขวัญทรงม้าเทศให้ทอดพระเนตร เมื่อเจ้าพระขวัญทรงทราบว่าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัณฑูรให้หาก็ทรงวางผลอุลิตหวานที่กำลังเสวยอยู่แล้วทูลลาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพ พระราชมารดา เพื่อเสด็จไปเข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ณ พระตำหนักหนองหวาย พร้อมด้วยนักพระสัฏฐาธิราช พระพี่เลี้ยงและข้าไทยจำนวนหนึ่ง เมื่อเจ้าพระขวัญเสด็จถึงพระตำหนักหนองหวาย สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีพระบัณฑูรห้ามไม่ให้พระพี่เลี้ยงและข้าไทยตามเสด็จเข้ามาและให้ปิดกำแพงแก้วเสีย แล้วจึงจับเจ้าพระขวัญสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วให้ข้าหลวงนำพระศพไปฝังไว้ที่วัดโคกพระยา หลังจากนั้นจึงเสด็จกลับพระราชวังบวรสถานมงคล

ด้านสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพนั้น เมื่อพระราชโอรสเสด็จไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ก็ทรงเข้าที่พระบรรทม เมื่อพระองค์ทรงเคลิ้มหลับลงก็ได้ยินเสียงเจ้าพระขวัญมาทูลขอพระราชทานผลอุลิตหวานที่เหลืออยู่มาเสวย ก็ตกพระทัยตื่นพระบรรมทม ในเวลานั้นพระพี่เลี้ยงในเจ้าพระขวัญและข้าไทยทั้งหลายก็ร้องไห้เข้ามากราบบังคมทูลเรื่องราวทั้งหมด กรมหลวงโยธาทิพทรงพระกันแสงและเสด็จขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระประชวรหนักอยู่ แล้วทรงกราบบังคมทูลว่า ลูกข้าพระพุทธเจ้าหาความผิดมิได้ กรมพระราชวังบวรฯ ฆ่าลูกข้าพระพุทธเจ้าเสียโดยหาเหตุมิได้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทราบทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอันมากแลตรัสว่าจะไม่ยกราชสมบัติให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงพระกรุณาตรัสเวนราชสมบัติให้เจ้าพระพิไชยสุรินทร พระราชนัดดา คืนนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต[2][3]

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันว่าเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8ขึ้นครองราชย์ ให้จับเจ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์ (โอรสของท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระขนิษฐาของพระเพทราชา พระนามเดิมว่าหม่อมแก้ว) พระองค์เจ้าดำ (พระโอรสของพระเพทราชาที่ประสูติแต่สนม ฉบับอื่นว่าถูกสำเร็จโทษในต้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ) พระองค์เจ้าแขก (สันนิษฐานว่าเป็นพระโอรสของพระเพทราชาอีกองค์หนึ่ง) ไปประหารชีวิต อยู่มาอีกสองวันจึงให้จับเจ้าพระขวัญไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา[4]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุเหตุการณ์ที่คล้ายกันคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอตรัสน้อย พระราชโอรสของกรมหลวงโยธาเทพ ถูกเจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรลวงไปสำเร็จโทษ โดยที่สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8ไม่ได้ทรงรู้เห็นด้วย และทรงเสียพระทัยจนกันแสงเมื่อทราบเรื่อง[5]

คำให้การชาวกรุงเก่า ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าเจ้าพระขวัญถูกสำเร็จโทษในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 และยังกล่าวด้วยว่าเพราะเจ้าพระขวัญวางแผนก่อกบฏ[6]

จดหมายของมงเซนเญอร์หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ่ (Monseigneur Louis Champion de Cicé) มุขนายกมิสซังประจำกรุงศรีอยุธยาถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส วันที่ 6 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1703 (พ.ศ. ๒๒๔๖) ซึ่งเป็นหลักฐานร่วมสมัย ได้ระบุว่าในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เจ้าพระขวัญซึ่งเป็นอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินยังมีพระชนม์อยู่ ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษตอนพระเพทราชาประชวร[7][8]

บันทึกเหตุการณ์ระหว่างการประชวรและการสวรรคตของพระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงพระนามว่าพระทรงธรรม์ (Relaas van’t voorgevallene bij de Zieke en overlijden van den Siamse koninck Phra Trong Than gernaamt) ของนายอาร์เนาต์ เกลอร์ (Aernout Cleur) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาถึงรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นหลักฐานร่วมสมัย ได้ระบุว่าพระขวัญ (PRAQUAN) หรือเจ้าพระขวัญ เป็นพระราชโอรสของกรมหลวงโยธาเทพ ไม่ใช่กรมหลวงโยธาทิพตามพระราชพงศาวดารที่ชำระในยุคหลัง และกล่าวว่าในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8ทรงปฏิบัติกับเจ้าพระขวัญเป็นอย่างดี ทรงเรียกเจ้าพระขวัญว่า เจ้าฟ้าน้อย (TJAUW FA NOY) โปรดให้ได้ทรงฉลองพระองค์ของหลวงและทรงให้มีส่วนร่วมในราชการ แต่กรมหลวงโยธาเทพกลับคิดแผนชิงบัลลังก์ให้เจ้าพระขวัญ โดยวางแผนว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาบนพระราชยานเพื่อไปถวายความเคารพพระบรมศพพระราชบิดาในเดือนห้า ก็จะได้โอกาสที่จะลอบยิงปืนปลงพระชนม์ และเจ้าพระขวัญจะทรงทำหน้าที่นี้โดยใช้ปืนพกที่ทรงพกติดตัวไปด้วยขณะที่ทรงม้า แต่นางกำนัลของกรมหลวงโยธาเทพนำแผนการไปกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทราบ ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1703 (พ.ศ. 2246) พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาถวายสักการะพระบรมศพพระราชบิดาพร้อมกับเจ้าพระขวัญ พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้เจ้าพระขวัญทรงม้าเพื่อออกพระกำลัง เมื่อทรงควบม้าไปถึงพระคลังวิเศษ (pakhuijs WISIT) ออกญาพิชิต (OIJA PIJIT) พระยาท้ายน้ำ (PIA TAIJNAM) และออกญาสุรศรี (OIJA ZURASIJ) ขุนนางทั้ง 4 ได้จับตัวเจ้าพระขวัญและนำพระองค์ไปสำเร็จด้วยท่อนจันทน์ และพระศพถูกนำไปฝังยังวัดโคกพระยา เมื่อกรมหลวงโยธาเทพทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าพระขวัญผู้เป็นพระโอรสจึงทรงหนีไปเข้าเฝ้ากรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาทิพจึงทูลขอให้ละเว้นพระชนม์ชีพของกรมหลวงโยธาเทพจากพระเจ้าแผ่นดิน จึงถูกลงโทษเพียงริบทรัพย์สมบัติและถอดจากที่พระมเหสีเท่านั้น แต่ออกญาสมบัติบาล, พระยาราชบังสัน, พระวิไชยสุรินทร์, พระรามเดชะ, พระเสมียนโกเศศ, ออกหลวงทิพรักษา และขุนนางใหญ่น้อยอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าพระขวัญถูกนำไปประหารชีวิตหมด[9]

ใกล้เคียง

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)