ประวัติ ของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช_(หนู)

พระเจ้านครศรีธรรมราช เป็นเชื้อสายขุนนางกรุงศรีอยุธยา มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อพระยาวิชิตณรงค์ ต่อมาได้รับราชการมีความชอบจนได้เป็น หลวงสิทธิ์นายเวร มหาดเล็ก ต่อมาพระยาราชสุภาวดีลงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หลวงสิทธิ์นายเวรจึงได้เป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราชในคราวนั้น ต่อมาเมื่อพระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีความผิด พระปลัด (หนู) จึงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระปลัด (หนู) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า เจ้านคร มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงหัวเมืองมลายู

เมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ กองทัพเจ้านครฯ กับกองทัพกรุงธนบุรีได้สู้รบกันอย่างสามารถ แต่แม่ทัพกรุงธนบุรีที่ยกทัพไปกลับไม่ปรองดองกัน จึงไม่สามารถปราบชุมนุมเจ้านครฯ ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องทรงลงไปตีด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงตีได้สำเร็จ เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าหนู ต้องหนีละทิ้งเมืองไปอยู่ที่เมืองปัตตานี แต่เจ้าเมืองปัตตานีเกรงกลัวกองทัพสยาม จึงส่งตัวกลับมาให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองปักษ์ใต้จึงมาอยู่ภายใต้อำนาจกรุงธนบุรี พระองค์ทรงไม่ประหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเนื่องจาก ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาแตก ไม่มีเมืองที่ใหญ่กว่ามาปกครอง เมืองนครศรีธรรมราชจึงต้องตั้งตนเป็นอิสระ[1]

หลังจากนั้นทรงโปรดให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี แล้วแต่งตั้งพระเจ้านราสุริยวงศ์ พระราชนัดดาให้ไปครองนครศรีธรรมราช จนพ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้านครศรีธรรมราช กลับไปครองนครศรีธรรมราช ทรงได้รับพระราชทานพระสุพรรบัฏเป็น พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2319 ดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าประเทศราช[2]

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงลดพระอิสริยยศพระเจ้านครศรีธรรมราช ลงเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และให้กลับมารับราชการในพระนคร ทรงแต่งตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)ไปครองนครศรีธรรมราชแทน พระเจ้านครศรีธรรมราชรับราชราชในกรุงเทพได้ไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) บุตรเขยได้เข้าไปรับอัฐิทั้งของพระเจ้านครศรีธรรมราชและหม่อมทองเหนี่ยว ซึงถึงแก่กรรมในเวลาไล่เลี่ยกัน ออกไปก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดแจ้งวรวิหาร เมืองนครศรีธรรมราช[3]

ใกล้เคียง

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)