ประวัติ ของ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์_(หม่อมราชวงศ์มูล_ดารากร)

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ มีนามเดิมว่าหม่อมราชวงศ์มูล เป็นโอรสคนที่ 4 ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรสุเทพ กับหม่อมเวก เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2420 ณ บ้านเชิงสะพานแม้นศรี[1] พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

ท่านเรียนที่อังกฤษอยู่ 8 ปี ถึงปี พ.ศ. 2440 จึงตามเสด็จฯ กลับมากรุงเทพมหานคร เข้ารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ เวรบัญชาการ กรมพระคลังข้างที่ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประกิจอังกนี ถือศักดินา ๘๐๐ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2444[2]ตำแหน่งปลัดกรมเวรเงิน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลจัดหาผลประโยชน์ส่วนพระองค์เจ้านายทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสิทธิธนรักษ์[3]ตำแหน่งเจ้ากรมการคลัง มีหน้าที่ดูแลหุ้นส่วนของกรมพระคลังข้างที่ในบริษัทต่าง ๆ ทุกแห่ง[4]

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระบริบูรณ์ราชสมบัติ เจ้ากรมพระคลังข้างที่ในสำนักสมเด็จพระบรมราชชนีพันปีหลวง ถือศักดินา 800[5] ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบริบูรณ์ราชสมบัติ รองอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ จากนั้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2464 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพระคลังข้างที่สืบต่อจากพระยาศุภกรณ์บรรณสาร[6]และในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นมหาเสวกเอก[7] โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2466 ท่านได้รับพระราชทานยศ นายกองตรีเสือป่า[8]

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ รัตนราชโกษาธิบดี ศรีสุเทพจันทรสกุล วรบาทมูลมหาสวามิภักดิ อันดรภิรักษ์ราชศฤงคาร พุทธศาสโนฬารศราทธฤตวัต คฤหปติรัตน์มหัทธิกมนตรี อภัยพีรยปรากรมพาหุ ดำรงศักดินา 10,000[9] ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี[10] และกรรมการองคมนตรี[11]

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ถูกปลดออกจากราชการในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ [12] ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับคุณหญิงประไพ ธิดาขุนเยาวราชธนารักษ์ (พร้อม ไกรฤกษ์) มีบุตรธิดารวม 11 คน[13]

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501[13] สิริอายุ 81 ปีในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกเอก เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2501[14]

ใกล้เคียง

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์_(หม่อมราชวงศ์มูล_ดารากร) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2452/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2463/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/...