ประวัติ ของ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ_(โรลังยัคมินส์)

โรลังยัคมินส์เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2378 จบการศึกษาสาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกนต์

เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ประเทศเบลเยี่ยม หลังจากนั้นได้เดินทางเข้ามารับราชการในประเทศสยาม ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435[2] ในฐานะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป 28 พฤศจิกายน ศกนั้น จึงได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำกระทรวงการต่างประเทศ[3] เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทย กำลังมีข้อพิพาทกับฝรั่งเศสในเรื่องดินแดนเมืองขึ้น จึงว่าจ้างโรลังยัคมินส์เข้ามาช่วยราชการแก้ปัญหาสำคัญ ที่รัฐบาลไทยจะต้องปรับปรุงแก้ไข 3 ประการ คือ

  1. ปรับปรุงการศาลยุติธรรมให้เป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศ เพราะขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มเข้ามาตั้งศาลกงสุลในประเทศไทย และไม่ยอมรับรองการอยู่ใต้กฎหมายไทย เพราะถือว่ากฎหมายไทยยังไม่มีระเบียบแบบแผนรัดกุมที่ดีพอ
  2. ปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งแยกกระทรวง ทบวง กรม มีการจัดตั้งสภารัฐมนตรี ขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) นักเรียนไทย คนแรกที่กลับจากอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี มีตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ แปลเอกสารภาษาอังกฤษ เพื่อจะใช้เป็นหลักในการปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง โดยมีกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเป็น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวที่พระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้แปลและได้ร่างเสร็จเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2432 เรียกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นนี้ว่า “พระราชประเพณี” ได้มีการจัดตั้งสภารัฐมนตรี และได้ประกาศตั้งเสนาบดี 12 กระทรวงใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435
  3. ปรับปรุงปัญหาด้านการต่างประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศยุโรปก็ได้ส่งกงสุลใหญ่เข้ามาดูแลด้านการค้า การปกครองคนของตนอย่างเป็นเอกเทศไม่ยอมให้คนในบังคับ ของตนมาขึ้นศาลไทย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกงสุลใหญ่หรือทูตไทยไปประจำในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น ทำให้เกิดปัญหา ความขัดแย้ง ความไม่พอใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกงสุลของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นบ่อย ๆ เกิดข้อพิพาทบาดหมางกัน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องส่งทูตพิเศษออกไปติดต่อกับรัฐบาลในทวีปยุโรปเสมอ ๆ จึงจำเป็นต้องจ้างโรลังยัคมินส์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นงานหนักในฐานะที่เป็นอัครราชทูตไทย ผู้มีอำนาจเต็มประจำ กระทรวงการต่างประเทศ บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของท่าน คือการที่ช่วยรัฐบาลไทยเจรจาและทำความเข้าใจกับรัฐบาลฝรั่งเศส ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งประเทศไทยถูกฝรั่งเศสยึดดินแดน ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบต่างชาติน้อยที่สุด และช่วยรักษาเอกราชของประเทศไทยไว้ได้อย่างปลอดภัย ด้วยการดำเนินรัฐประศาสโนบายในทางที่ควรจนรอดพ้นจากการสูญเสีย ประเทศมาได้

คุณความดีและความสามารถหลายด้านของโรลังยัคมินส์ที่มีต่อประเทศไทย วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้โรลังยัคมินส์เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวาภักดิ์ ปรมัคราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป ถือศักดินา 10000[4] นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งฝรั่งเป็นเจ้าพระยาเทียบชั้นเสนาบดี

ส่วนในด้านการศึกษาของเจ้าฟ้าชายผู้เป็นรัชทายาท และพระราชโอรสทุกพระองค์ เจ้าพระยาอภัยราชาได้เสนอความคิดว่าควรจะศึกษาวิชาใดในต่างประเทศ และควรจะเรียนในประเทศใด เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองและเป็นการเชื่อมโยงสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศต่าง ๆ ด้วย และยังถวายคำแนะนำ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2441 ภายหลังที่มีกรณีพิพาท กับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2436 เพื่อบรรเทาความตึงเครียดในทางการเมือง และเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ รู้จักประเทศไทยและหันมาสนับสนุน ประเทศไทยในทางการเมือง เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับอิทธิพลของฝรั่งเศสในขณะนั้น

ในการเสด็จเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตลอดเวลาที่ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ เป็นเวลานาน 9 เดือน และได้แต่งตั้งองค์ที่ปรึกษาราชการ แผ่นดินขึ้น 5 นาย เพื่อถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในจำนวนบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมี เจ้าพระยาอภัยราชา ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้อยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปด้วย

เจ้าพระยาอภัยราชามีส่วนช่วยสร้างและนำความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำหน้าที่ติดต่อกับเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ช่วยเร่งรัดงานให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว มีระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น ภายหลังเจ้าพระยาอภัยราชาได้เดินทางกลับไปยังประเทศเบลเยี่ยม และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม ปีฉลู พ.ศ. 2444 อายุได้ 66 ปี[5]

ใกล้เคียง

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง โรจนกุล) เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ_(โรลังยัคมินส์) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/... http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/... https://deepl.com https://translate.google.com/ https://translate.google.com/translate?&u=https://...