คุณสมบัติ ของ เชลแล็ก

เชลแล็กมีคุณสมบัติที่หลากหลายได้แก่

  • การซึมผ่านไอน้ำที่ต่ำ - คุณสมบัติข้อนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้เชลแล็กถูกนำมาใช้มากตั้งแต่อดีตเพื่อการปกป้องความชื้น โดยเชลแล็กสามารถเกิดฟิล์มได้และมีความสามารถในการป้องกันความชื้นไม่ให้ผ่านผิววัสดุที่เคลือบด้วยเชลแล็ก
  • การละลายขึ้นกับค่าพีเอช - เชลแล็กประกอบด้วยพอลิเมอร์ที่มีกลุ่มคาร์บอกซิลิก ทำให้มีคุณสมบัติไม่ละลายที่ค่าพีเอชต่ำแต่จะละลายได้มากขึ้นเมื่อเพิ่มค่าพีเอช โดยเชลแล็กจะเริ่มละลายได้ที่พีเอชประมาณ 7.0 ทำให้ป้องกันการแตกตัวในกรดในกระเพาะอาหารได้ โดยนำเชลแล็กมาเคลือบยาเพื่อการนำส่งยาสู่ลำไส้
  • ความสวยงามของฟิล์ม - ฟิล์มที่เตรียมจากเชลแล็กจะมีค่าดัชนีหักเหที่ค่อนข้างสูง (ประมาณ 1.521 - 1.527) สามารถสะท้อนแสงได้ดีทำให้ได้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติเงางามคุณสมบัติข้อนี้เสริมประโยชนในแง่ความสวยงามของผลิตภัณฑ์ที่ถูกเคลือบ เช่น การนำไปใช้สำหรับงานเฟอร์นิเจอร์รวมทั้งการเคลือบผลไม้โดยเพิ่มจากประโยชน์ในแง่ของการป้องกันน้ำของเชลแล็ก
  • การนำความร้อนและไฟฟ้าต่ำ เชลแล็กจะมีค่าการนำความร้อนที่ค่อนข้างน้อยประมาณ 0.24 วัตต์ต่อเมตรต่อองศาเซลเซียส (ทองแดงมีค่าเท่ากับ 401 วัตต์ต่อเมตรต่อองศาเซลเซียส ส่วนแก้วมีค่าเท่ากับ 1 วัตต์ต่อเมตรต่อองศาเซลเซียส) นอกจากนี้แล้วยังมีการนำไฟฟ้าที่ต่ำมีความเป็นฉนวนที่ดี โดยปกติวัตถุที่จัดว่านำไฟฟ้าจะมีความต้านทานพื้นผิวน้อยกว่า 105โอห์ม และจะจัดว่าเป็นฉนวนถ้ามีค่ามากกว่า 1012โอห์ม ยกตัวอย่างเช่น ทองแดง ฟิล์มที่เตรียมจากพอลิเอทิลีนและเทฟลอน จะมีค่าเท่ากับ 1, 1012 และมากกว่า 1016 ตามลำดับ ในกรณีของฟิล์มที่เตรียมจากเชลแล็กมีค่ามากกว่า 1014 ซึ่งจากคุณสมบัตินี้จึงทำให้เชลแล็กสามารถนำไปใช้ในแง่ของการเป็นฉนวนสำหรับทำสายไฟ รวมทั้งการนำไปใช้สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องการป้องกันการนำไฟฟ้าได้
  • ความสามารถในการยึดเกาะผิวที่เคลือบและความทนทานต่อการถูกขีดข่วน - เชลแล็กสามารถยึดติดกับผิวของวัสดุได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นพื้นผิวของสารบางชนิด เช่น เทฟลอนหรือวัสดุที่ถูกเคลือบด้วยซิลิโคนทำให้สามารถนำไปเคลือบและทำให้มีการยึดติดกับชิ้นงานได้ดีและเป็นเวลานาน โดยอาจมีแรงยึดเกาะที่แตกต่างกันไปได้บ้างขึ้นกับวัสดุ ตัวอย่าง เช่น แรงยึดเกาะกับทองแดงประมาณ 3,300 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นอกจากนี้แล้วยังค่อนข้างทนต่อการขีดข่วนซึ่งช่วยป้องกันผิวที่เคลือบได้

จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้เชลแล็กมีการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมยาและการแพทย์เพื่อใช้ในการเคลือบยา, ส่วนผสมของเครื่องสำอางและสารที่ใช้ทางทันตกรรม, อุตสาหกรรมอาหารสำหรับการเคลือบอาหารบางประเภท, อุตสาหกรรมการเกษตรสำหรับการเคลือบผลไม้ รวมถึงงานเคลือบไม้เพื่อใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในส่วนอุตสาหกรรมยานั้นถูกนำมาใช้ในการเคลือบโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ คือการเคลือบเพื่อหวังผลในแง่การป้องกันการซึมผ่านของน้ำ เช่น ในกรณีของการเคลือบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในเม็ดยาในกระบวนการเคลือบน้ำตาล และการเคลือบเอนเทอริกหรือการเคลือบเพื่อให้ยาแตกตัวในลำไส้